ข่าวคนไทยในอเมริกา
‘ทูตธานี’ชี้ปัญหาตัด’จีเอสพี’ อยู่ที่สหภาพแรงงานต่างด้าว


ออท.ธานี ทองภักดี




บรรยากาศขณะพบปะกับผู้สื่อข่าวไทยในนครลอส แอนเจลิส ของ ออท.ธานี ทองภักดี




แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ “ธานี ทองภักดี” พบประชาชนไทยและนักธุรกิจไทยในลอส แอนเจลิส หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม ยืนยันสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กลับเข้าสู่โหมดปกติ หลังสหรัฐฯ รับรองรัฐบาลไทยว่ามาจากการเลือกตั้ง ส่วนกรณีตัดสิทธิ “จีเอสพี” สินค้านำเข้าจากไทยนั้น ยังมีเวลาเจรจาอีกร่วมหกเดือน แม้ว่าข้อเรียกร้องบางประการ จะทำตามลำบากก็ตาม

หลังจากเดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา นายธานี ทองภักดี ได้จัดกิจกรรมพบปะกับสื่อมวลชนและผู้นำชุมชนไทยในนครลอส แอนเจลิส ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีชาวไทยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ เมื่อบ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน ณ ชั้น 2 สถานกงสุลใหญ่ฯ  เพื่อพูดคุยและสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายของรัฐบาล และการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศในการพัฒนาชุมชนไทยในสหรัฐฯ ให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนานว่า 186 ปี

โดยเอกอัครราชทูตไทยฯ กล่าวว่าขณะนี้ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ กลับเข้าสู่สภาพเกือบเป็นปกติ และว่ารัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศรับรองรัฐบาลไทยว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งการรับรองดังกล่าว เท่ากับเป็นการเปิดประตูความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้กระชับยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ถือว่าเข้าสู่สภาวะเกือบปกติตอนท่านนายกฯ มาเยือนสหรัฐฯ เมื่อสองปีที่แล้ว คงจะจำได้ ตอนนั้นท่านนายกฯ ไปที่ทำเนียบขาวพบปะกับประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งถือเป็นจุดหันเหที่สำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ร่วมมือกับเรามากขึ้น และหลังเลือกตั้งก็ยิ่งกระชับกันมากขึ้นอีก”

นายธานี ทองภักดี กล่าวต่อว่า ตนเดินทางมารับตำแหน่งในช่วงนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ในด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหาร ถือว่าใกล้ชิดกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงได้รับมอบหมายให้มาดูแลเรื่องเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ ว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวอย่างไรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น งานสำคัญที่เอกอัครราชทูตไทยฯ บอกว่าได้รับมอบหมายมาคืองานคุ้มครองและส่งเสริมผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“เป็นข้อที่ห้าของนโยบายห้าข้อ ในนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้มีกำหนดไว้ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมคุ้มครองผลประโยชน์คนไทย ซึ่งก็รวมถึงชุมชนไทย แรงงานไทย นักเรียนไทย และบริษัทของคนไทยในต่างประเทศด้วย รวมถึงจะทำอย่างไรให้ชุมชนไทยในต่างประเทศมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหารือกับพวกเราทุกคนด้วยว่า ในแง่สถานทูต สถานกงสุลในสหรัฐฯ ที่ชิคาโก้ แอลเอ และนิวยอร์ก ทางส่วนราชการนั้นสามารถที่จะสนับสนุนชุมชนไทยด้านใดได้บ้าง ท่านคาดหวังว่าเราสามารถเข้าไปสนับสนุนด้านใดได้บ้าง ขณะเดียวกันเราเองก็อยากจะสนับสนุนให้ชุมชนไทยในอเมริกา ซึ่งประเมินว่าน่าจะใกล้ๆ ห้าแสนคน จะทำไงให้ส่งเสริมศักยภาพคนไทยเหล่านี้ให้แข็งแกร่งและมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในชุมชน ในพื้นที่ๆ พำนักอยู่ และมีบทบาทมากขึ้นในวงการเมืองสหรัฐฯ ด้วย”

ในประเด็นที่สหรัฐฯ ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ 573 รายการ นั้น ออท.ธานี ทองภักดี  กล่าวว่าไทยยังมีเวลาอีกประมาณ 6 เดือนในการแก้ไขปัญหา

“ท่านนายกฯ ได้สั่งการลงมาแล้ว ได้มอบหมายใน ครม.เศรษฐกิจที่ประชุมกันเมื่อต้นเดือนนี้ว่าให้ทาง กระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ แรงงาน ไปเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ ว่าจะทบทวนได้ไหม เพราะเกรงว่าจะกระทบการส่งออกของไทย แต่จริงๆ แล้วผลกระทบอาจจะไม่ได้มากเท่าไหร่นัก เพราะว่าโดยเฉลี่ยแล้วภาษีศุลกากรของสินค้านำเข้า 573 รายการอยู่ที่ประมาณ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษีหรือมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ และมีการประเมินในเบื้องต้นแล้วว่า สำหรับปีหน้าอาจจะกระทบการส่งออกประมาณ 30-40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่มากนัก อยู่ในวิสัยที่จะปรับตัวได้”

อย่างไรก็ดี ออท.ธานี ทองภักดี ยอมรับว่าสินค้าบางตัวในรายการที่จะถูกตัด จีเอสพี มีความอ่อนไหวเรื่องราคามาก เพราะมีคู่แข่งมาก ซึ่งจากการพบกับนักธุรกิจนำเข้าในลอส แอนเจลิส ก่อนหน้านั้น ตนได้รับทราบความกังวลใจในเรื่องนี้ และว่าทางรัฐบาลจะเดินหน้าเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อให้มีการทบทวนเรื่องนี้ต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ประกาศเพิกถอน จีเอสพี สินค้านำเข้าของไทยดังกล่าว เป็นเพราะมาตรฐานแรงงานของไทยยังไม่ได้ระดับสากล

“คือเมื่อปี 2015 ทางสมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ หรือ AFL-CIO ได้ยื่นร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ว่าสิทธิของแรงงาน การคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเรื่องแรงงานก็เป็นเงื่อนไงหนึ่งสำหรับประเทศใดก็ตามที่จะจะรับสิทธิ จีเอสพี ก็มีการหยิบยกเป็นประเด็นประมาณ 7 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งเราก็ได้คุยกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ 2015 ก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ นานามาเรื่อยๆ แต่ยังคงมีบางประเด็นที่เรายังมีข้อจำกัดอยู่ หลายเรื่องๆ อยู่ในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่จะออก ซึ่งตอนนี้เรื่องอยู่ที่กฤษฎีกาในการตรวจร่างพรบ.อยู่ ดังนั้นมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และบางเรื่อง เป็นเรื่องที่เขาอยากจะให้เราทำ ซึ่งอันนี้ก็ต้องมีการหารือกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ทั้งธุรกิจไทยและสหภาพแรงงานไทยเอง ก็ยังเป็นประเด็นท่ีต้องคุยกันต่อไป”

โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ ออท.ธานี ทองภักดี ยกตัวอย่าง คือการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการ

“จริงๆ แล้ว เราก็ให้สิทธิเขาอยู่แล้วในการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่มีอยู่ หรือจะไปเป็นกรรมการบริหารก็ได้ แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องมาคือให้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิ์ตั้งสหภาพแรงงานของเขาเอง ซึ่งก็ต้องคุยกันนะครับ เพราะมันจะมีผลกว้างขวาง และก็ต้องคุยกับทั้งแรงงานไทยเองด้วย อุตสาหกรรมไทยเองด้วยว่าเขาเห็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้แหละครับ ที่ในช่วงหกเดือนข้างหน้านี้เราต้องคุยกับฝ่ายสหรัฐฯ ว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน เรามีข้อจำกัดอะไร ทำไม่ได้ก็ต้องอธิบายไปว่าเพราะอะไร”

อนึ่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่ ออท.ธานี ทองภักดี กล่าวถึงนั้น รายงานข่าวของประชาชาติธุรกิจ (30 ตุลาคม) รายงานว่า ผลจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างทั้ง 4 ภาค ปรากฏนายจ้างและลูกจ้างกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ได้มีการรับรองให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ 1 ใน 5 ทั้งให้ผู้รับเหมา ซับคอนแทร็กต์ต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

ประเด็นต่อมาที่ ออท.ธานี ทองภักดี กล่าวถึงระหว่างการพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยในลอส แอนเจลิส คือนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ตนได้รับมอบหมายมา

“มีการตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปให้ได้ ซึ่งมันก็ต้องส่งเสริมเรื่องของนวัตกรรม ทำอย่างไรให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่าไปพึ่งเศรษฐกิจที่เราเคยทำมาโดยตลอด จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น หลายๆ อย่างที่รัฐบาลอยากจะทำ คือบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งอยู่แถวนี้หมดเลย อยู่ที่แคลิฟอร์เนียเยอะ ก็เป็นโจทย์ที่เราได้รับมาว่ายจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ๆ ที่นี่ไปลงทุนในไทยมากขึ้น ในสาขาต่างๆ ที่เราพยายามผลักดัน เรื่องยานยนต์ เรื่องแพทย์ เรื่องอุตสาหกรรมดิจิตัล หรือแม้แต่การป้องกันประเทศ รวม 12 สาขา ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำของโลก”

ทั้งนี้ เอกอัคราชทูตฯ ธานี ทองภักดี ได้เดินทางมายังนครลอส แอนเจลิส ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 เพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่นเป็นประธานการประชุมทีมประเทศไทย ณ นครลอสแอนเจลิส ซึ่งประกอบไปด้วยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ, สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน,  สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานผู้ช่วยนายทหารจัดหาประจำสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือ และธนาคารกรุงไทย ต่อด้วยการเตรียมงานและรับเสด็จทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่จะเสด็จมาเป็นประธานในงาน Thai Night at American Film Market 2019

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ยังได้พบหารือกับประธานหอการค้าพื้นที่นครลอสแอนเจลิส (Los Angeles Area Chamber of Commerce) รวมถึงพบปะนักธุรกิจไทย รวมถึงชุมชนไทยในนครลอสแองเจลิส และเมืองใกล้เคียง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศในการพัฒนาชุมชนไทยในสหรัฐฯ ให้เข้มแข็งและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนานว่า 186 ปีด้วย.
.
.

 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :
 
Detail :
 



ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข