บทความหน้าสาม
สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์ (ตอนที่2)


สารพัดสารพันกับวัลลภา โดย...วัลลภา ดิเรกวัฒนะ

“สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์” เป็นเรื่องราวของ “ไอรีน กัท” ผู้หญิงที่ยอมเสี่ยงชีวิตกับข้อห้ามของพวกนาซี “ใครก็ตามที่ช่วยเหลือพวกยิว จะได้รับโทษถึงชีวิต" ประโยคนี้เขียนติดไว้ทุกหนทุกแห่งและจากเครื่องกระจายเสียงที่ป่าวประกาศตามท้องถนนทุกมุมเมือง แต่จากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ไม่ได้ทำให้ไอรีนประหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย…

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

...งานใหม่ของฉันได้ที่โรงแรมเก่าๆ ในเรดอม มีหน้าที่เสิร์ฟอาหารให้พวกนายทหารวันละ 3 มื้อ จำนวนอาหารแต่ละมื้อและที่เหลือ ทำให้ฉันหัวหมุนไปเหมือนกันเมื่อนึกสงสารพวกที่ไม่มีจะกิน 

เวลาผ่านไป 2-3 อาทิตย์ ฉันเริ่มกล้าออกปากขออาหารเหลือจากพ่อครัวเอาไปให้น้ากับน้องสาว ซึ่งโชคดีที่พ่อครัวใจดี เตรียมพวกเนื้อสัตว์ขนมปังและผักใส่ห่อให้ฉันเอากลับบ้านทุกวัน ทำให้หัวใจที่เต็มไปด้วยความสงสารเมื่อเห็นน้องแก้มตอบ ผอมลงๆ ค่อยผ่อนคลาย

 

เช้าวันหนึ่งพ่อครัวให้ฉันช่วยจัดโต๊ะข้างบนในห้องบอลรูมสำหรับอาหารมื้อเย็น ฉันเปิดม่านกำมะหยี่ออกเพื่อให้แสงลอดเข้ามาในห้อง มองออกไปข้างนอกห้องบอลรูมซึ่งอยู่ด้านหลังโรงแรม ไม่เคยสังเกตมาก่อนว่ามีรั้วไม้ ข้างบนติดลวดหนาม มองไปมองมาถึงได้เห็นว่าเป็นสถานกักกันพวกยิว กลินิซ เกตโต นั่นเอง 

บางครั้งได้ยินพวกนายทหารคุยกับถึงปัญหาของพวกยิว แต่ฉันยุ่งอยู่กับงานและครุ่นคิดปัญหาของตัวเอง ระยะนี้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ทั้งยังหอบไปให้ครอบครัวอีกด้วย ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว จึงมีเวลาสนใจเรื่องอื่นๆ บ้าง 

ฉันใช้เวลาจัดโต๊ะเกือบชั่วโมง ได้ยินเสียงปืนดังก้องขึ้น มีผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กวิ่งกรูอยู่บนถนน มีเจ้าหน้าที่กระโดดลงมาจากรถทรัค ใช้ปืนไล่ยิงพวกยิวที่กำลังวิ่งหนีตาย เสียงกรีดร้องและเสียงสุนัขตำรวจเห่าอย่างบ้าคลั่งลอดแว่วๆ เข้ามาข้างใน หิมะเป็นสีแดงเข้มชุ่มเลือด 

ฉันรู้สึกถึงเสียงร้องผ่านเข้ามาในร่างกายของฉันราวกับว่าเป็นคนถูกยิงเอง มาถึงตอนนี้จึงได้เข้าใจคำพูดของทหารเยอรมันที่พูดถึงปัญหาของพวกยิว

...วันรุ่งขึ้นฉันไปทำงานตามปกติ ผิวกายเหมือนถูกทิ่มแทงด้วยหนามแหลม ราวกับว่าสถานกักกันพวกยิวที่อยู่หลังโรงแรมเป็นความรับผิดชอบของฉันเอง จะต้องทำอะไรสักอย่าง หลังอาหารกลางวัน ฉันอยู่คนเดียวในครัว ซึ่งเป็นโอกาสที่รอคอย ฉันคว้าถังแล้วก้าวออกไปตามทางเดินด้านหลังโรงแรม สุดเขตโรงแรมเป็นรั้วของสถานกักกัน ฉันมองออกไปนอกถนนก็เห็นว่าไม่มีใครสนใจ

“ใครก็ตามที่ช่วยพวกยิว มีโทษถึงตาย” เป็นคำเตือนที่ได้ยินครั้งแล้วครั้งเล่า มีทั้งที่เขียนโปสเตอร์ และประกาศตามเครื่องขยายเสียงตามท้องถนน

ฉันหยิบช้อนเหล็กอันใหญ่จากกระเป๋าเอี๊ยม ขุดหลุมเล็กๆ แล้วล้วงหยิบกระป๋องสังกะสีที่ใส่ชีสและแอ็ปเปิล วางลงในหลุมที่ขุดแล้วรีบกลับเข้าครัว

เช้าวันรุ่งขึ้น ไปสำรวจที่กล่องปรากฏว่าว่างเปล่า 

นับจากวันนั้นทุกวัน ฉันหาโอกาสที่จะเอาอาหารไปวางไว้ในหลุมใต้รั้ว ฉันรู้ดีว่ามันเป็นวิธีการเหมือนกับทิ้งสิ่งของเล็กๆ ในมหาสมุทร แต่ก็ดีกว่าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย   

ปี 1942 พ่อครัวแสนดีชื่อ เฮอร์ บอกกับฉันว่า กองบัญชาการชุดนี้ต้องย้ายในเดือนเมษายน ไปยังเมืองเทอร์นาโพล อยู่ทางทิศตะวันออก ฉันดีใจว่า ณ ที่นั้น พวกทหารโซเวียตคงไม่ติดตามหาตัวฉันอีกต่อไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้กับสถานการณ์ใหม่ที่ยังมาไม่ถึง…

ฉันบอกพ่อครัวว่าน้องสาวมีความสามารถในงานด้านนี้เช่นกัน เขาช่วยให้จารีน่าเข้ามาเสิร์ฟอาหารอีกคนหนึ่ง แล้วเราทั้งสองคนก็ถูกส่งตัวไปยังเมืองล็อฟ โรงงานแห่งใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่จำเป็นต้องย้ายศูนย์บัญชาการไปให้ใกล้กับแนวหน้าของโซเวียตมากที่สุด  

วันหนึ่งฉันกับจารีน่ารู้จักเพื่อนใหม่ชื่อ เฮเลน วีนโบม หญิงสาวชาวโปลิช เธอเล่าถึงสามี เฮนรี่ ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน “อาร์ไบสเลเจอร์” ซึ่งมีชาวยิวจำนวนมากและจากเมืองโดยรอบถูกนำมากักกันไว้ เฮเลนไม่ใช่ยิว แต่เธออยากเป็น เพราะอย่างน้อยจะได้อยู่ใกล้ชิดกับสามีสุดที่รัก เราทั้งสามคนพูดคุยระบายความในใจด้วยความรู้สึกสนิทสนมในเวลาอันรวดเร็ว 

วันอาทิตย์หนึ่งของเดือนกรกฎาคม ฉัน จารีน่า เฮเลนและแม่ของเธอ ไปตามหาเฮนรี่ที่ อาร์ไบสเลเจอร์ พวกเรายืนติดกับรั้วหน้าค่ายกักกัน มองดูพวกยิวหลายร้อยคนถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่ม ผู้หญิง เด็กอยู่ด้านหนึ่ง ชายชรา ชายหนุ่มอยู่อีกด้านหนึ่ง 

แล้วขบวนนักโทษก็ถูกบังคับให้เดินเข้าไปในประตูใหญ่ ขณะที่เจ้าหน้าที่เพชรฆาตเยอรมันใช้ปลายปืนไรเฟิลคอยหวดที่หลังตามอำเภอใจ พวกผู้หญิงพยายามปกป้องลูกๆ ไม่ให้ถูกตี ส่วนชายหนุ่มก็เอาตัวกำบังพ่อ ถ้ามีใครสักคนเกิดสะดุดแล้วหกล้ม เสียงปืนก็จะดังขึ้นทันที 

พวกเรายืนนิ่งไม่ไหวติง ทำอะไรไม่ได้นอกจากจ้องดูการกระทำที่ป่าเถื่อน แล้วก็เห็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งโยนอะไรสักอย่างขึ้นเหนือศีรษะ ลักษณะเหมือนนกตัวอ้วนๆ ส่วนมืออีกข้างเหนี่ยวไกปืนยิงเปรี้ยงขึ้นไป สิ่งที่คล้ายนกก็ตกลงมาที่พื้นข้างแม่ที่กำลังกรีดร้องโหยหวน แล้วเจ้าหน้าที่ก็หันมายิงแม่ให้ตายไปตามกัน…ที่คิดว่าเป็นนกคือทารกไร้เดียงสา…

พวกเราสี่คนยืนดู เป็นพยานความดุร้ายป่าเถื่อนที่ถืออำนาจเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ จนไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ เราเก็บกดความรู้สึกเหล่านั้นไว้อย่างอดกลั้น รอจนกว่าถึงเวลาที่กล้าเอ่ยคำว่า…ดูเอาก็แล้วกัน สิ่งชั่วร้ายเลวทรามที่มนุษย์ทำกับมนุษย์…

ตอนนั้นฉันอายุแค่ 24 ปี แต่จากประสบการณ์ที่ได้ประสบ ราวกับว่าร่างกายบรรทุกความโกรธแค้นและคุกรุ่นรอคอยวันแก้แค้นไว้อย่างเต็มเปี่ยม  ฉันเห็นการกระทำที่โหดเหี้ยมทุกวัน คอยหาวิธีที่จะตอบโต้ให้ได้

ถึงเดือนสิงหาคม เราก็ย้ายไปอยู่ในกองบัญชาการที่เมืองเทอร์นาโพล ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารนายทหารชั้นผู้ใหญ่เหมือนเดิม ฉันกับจารีน่าพักอยู่ที่ห้องเล็กๆ ใกล้กับครัว พ่อครัว เฮอร์ ให้ฉันเป็นคนควบคุมห้องซักผ้า คอยดูแลและซ่อมเสื้อผ้าของนายทหารและพวกเลขาธิการ 

ห้องซักผ้าใช้แรงงานจากพวกยิวที่ถูกนำตัวจากสถานกักกัน มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 12 คน ไอด้า ฮัลเลอร์ หัวหน้าทีม กับสามี ลาร์ซาร์ อายุ 40 ปี ท่าทางเฉลียวฉลาด ตอนแรกพวกเขามีทีท่าไม่วางใจ คิดว่าฉันเป็นพวกเยอรมัน ต่อมาก็เชื่อใจที่จะเล่าเหตุการณ์ที่ อาร์ไบสเลเจอร์ 

“บางครั้ง ผู้บัญชาการ โรกิต้า แห่งเทอร์นาโพล บังคับให้พวกเราไปยืนอยู่นอกค่ายหลายชั่วโมงหลังเสร็จงาน ถ้าหากขยับหรือส่งเสียงก็จะถูกเฆี่ยนตี หรือไม่ก็ถูกยิงตาย”

แฟนก้า ซิลเบอร์แมน สาวสวยอายุเท่ากับฉัน เสริมว่า “แต่อย่างน้อยเพวกเราที่ถูกคัดเลือกมาทำงานที่นี่ก็ดีกว่าอยู่ในสถานกักกัน” ทุกคนหน้าตาซีดเซียวเพราะอดอาหาร ฉันบอกกับพวกเขาว่า “ฉันจะคอยดูแลพวกคุณเอง” 

โมเสส สไตเนอร์ ก้าวเข้ามาใกล้ฉันด้วยใบหน้าที่หมดหวังและเศร้าหมอง ยักไหล่เล็กน้อยก่อนที่จะแย้งว่า “คุณก็แค่ผู้หญิงสาวอ่อนต่อโลกคนหนึ่ง จะช่วยพวกเราอย่างไรได้” 

เมื่อฉันออกจากห้องซักผ้า ก็ครุ่นคิดคำพูดของโมเสส ใช่แล้ว…จะไปช่วยอะไรพวกเขาได้ ฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เท่านั้น แต่ถ้าหากมีโอกาสล่ะ… ช่วงเย็นเวลาทำหน้าที่เสิร์ฟอาหาร ฉันคอยเงี่ยหูฟังนายทหารซึ่งคุยกันถึงกลยุทธ์ต่างๆ

ยิ่งตั้งใจฟังมากขึ้นเวลาที่ผู้บัญชาการ โรกิต้า กินอาหารเย็นพร้อมกับ นายพันเอ็ดดวจ เรอจิเมอร์ พอเห็นหน้าโรกิต้าเป็นครั้งแรกก็นึกถึงคำบอกเล่าของไอด้า แล้วรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก โรกิต้าคือนายทหารที่มีหน้าตาหล่อเหลาที่สุดเท่าที่เคยเห็น อายุประมาณ 30 ปี ผมสีบลอนด์อ่อนๆ นัยน์ตาสีฟ้า แต่กลับมีจิตใจที่อำมหิต เย็นเยียบเหมือนน้ำแข็ง กำไลเงินที่สวมเป็นรูปหัวคนตายฉายให้เห็นถึงจิตใจที่โฉดชั่วไร้มนุษยธรรม

อีกหลายเดือนผ่านไป ฉันรายงานความเคลื่อนไหวจากคำพูดของโรกิต้าให้กับคนงานในห้องซักผ้าทุกระยะ  “ฉันคิดว่าจะมีปัญหาใหญ่พรุ่งนี้ อาจเป็นการจู่โจมหรือตรวจค้นอะไรสักอย่าง บอกให้ทุกคนรู้ด้วย” 

ลาซาร์ กลายเป็นโฆษกประจำกลุ่ม คอยรายงานความเคลื่อนไหวต่อจากฉัน เขาหาลู่ทางที่จะบอกพวกยิวในเกตโต ถึงแม้จะควบคุมอย่างป่าเถื่อน แต่ก็มีบางครั้งที่อนุญาตให้บางคนในสถานกักกัน อาร์ไบสเลเจอร์ ไปพบญาติที่ เกตโต ได้ เป็นวิธีเดียวที่จะส่งข่าวให้พวกยิวรู้ถึงแผนการร้ายของเยอรมัน บางคนก็หนีเข้าป่าหรือซ่อนตัวไม่ให้ค้นพบ

พวกเราช่วยเหยื่อเคราะห์ร้ายของ โรกิต้า หลายคน อีกสองสามเดือนต่อมา เขาก็เป็นบุคคลอันตรายที่ฉันต้องระแวดระวังไม่ให้มีโอกาสเข้าใกล้น้องสาว 

วันนั้นเป็นวันคริสมาสต์ อีฟ โรงแรมดัดแปลงเป็นโรงอาหารในเวลาปกติ เต็มไปด้วยนายทหารและเสนาธิการ มารวมตัวเลี้ยงฉลองวันสำคัญ จารีน่ากับฉันได้รับคำสั่งให้เข้าไปรับใช้ ฉันทำงานไปก็คอยดูน้อง เพราะเกรงว่า โรกิต้า จะมองเห็น เพราะจารีน่าเป็นคนสวย ท่าทางนุ่มนวลและสง่างามไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใด ฉันเกิดความหวาดกลัววูบขึ้นมา รีบดึงตัวน้องสาวออกไปจากกลุ่มคน แต่ก็สายเกินกว่าที่จะหลบพ้นสายตาของโรกิต้าไปได้ 

สองสามวันต่อมา โรกิต้ากลับมากินอาหารเย็นกับนายพันเอ็ดดวจอีกครั้ง เขาพยายามถามถึงจารีน่าตลอดเวลา ฉันจึงเข้าพบและขอร้องนายพันเอ็ดดวจให้ช่วย ซึ่งเขารู้ดีถึงความต้องการของโรกิต้า นายพันเข้าใจและเห็นด้วยที่จะส่งตัวจารีน่ากลับเมืองเรดอม ครั้งต่อไปพอโรกิต้าถามถึงจานีน่า ฉันรีบบอกว่า หมอตรวจพบว่าจารีน่าเป็นวัณโรค จึงต้องส่งตัวเธอไปอยู่ไกลๆ โรกิต้าทำท่าหดตัวขยะแขยง หันหลังกลับทันทีโดยไม่พูดต่อแม้แต่คำเดียว…

เขาเอาตัวหญิงสาวไปบำเรอมากมายนับไม่ถ้วน แต่ต้องไม่ใช่น้องสาวของฉัน…

ถึงต้นปี 1943 การติดต่อกับทางครอบครัวเลือนหายไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่สงครามรุนแรงขึ้นทุกขณะสำหรับพวกเยอรมันทางตะวันออก มีการปะทะกันรุนแรงที่สตาลินการ์ด ในเดือนสิงหาคม แต่ไม่ชนะโซเวียต 

เฮเลนขอนัดพบฉันในเมืองเป็นการด่วน เมื่อเธอรู้ว่า เฮนรี่ สามีซึ่งทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ส่วนตัวของโรกิต้า ลักษณะของเฮนรี่เป็นคนที่ผ่านการอบรมอย่างดีไม่เหมาะสมที่จะเป็นทาสรับใช้คนเลวร้ายเช่นนั้น เฮนรี่ต้องไปอยู่ที่ศูนย์บัญชาการ และเขารู้แผนของเยอรมันจากฉัน เราติดต่อกันอย่างใกล้ชิดทุกระยะ 

เหตุผลหนึ่งที่ต้องกังวล ก็คือพวกนาซีเร่งมือสะสางปัญหาชาวยิวขั้นสุดท้ายอย่างรีบเร่ง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1943 โรกิต้าและสมุนจู่โจมในเกตโต และที่อาร์ไบสเลเจอร์บ่อยครั้งยิ่งขึ้น 

เฮิร์ส มอร์ค คนงานในห้องซักผ้าพูดกับฉันในวันหนึ่งว่า “มีพวกยิวจำนวนมากแอบซ่อนตัวในป่า ผมกับน้องชายกำลังตัดสินใจหนีไปด้วยกัน ไอรีน…คุณช่วยพวกเราหน่อยได้ไหม”.

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


อ่านย้อนบทความก่อนหน้านี้

สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์ (บทนำ) 

http://siamtownus.com/2016/New-2101000067-1.aspx

สตรีผู้กล้าแห่งโปแลนด์ (ตอนที่1)

http://siamtownus.com/2016/New-2102000035-1.aspx





 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
22-05-2023 แผนกสูตินรีเวชของ APHCV จัดเสนอบริการรับฝากครรภ์ที่ศูนย์สุขภาพลอสเฟลิซให้แก่ชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว (0/1525) 
05-05-2023 รายงาน : เปิดหมายกำหนดการและขั้นตอนสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (0/409) 
30-01-2023 รายงาน : สรุปเทรนด์ตลาดและธุรกิจปี 2565 ในสหรัฐฯ และแนวโน้มปี 2566 (0/861) 
29-09-2022 เพื่อช่วยบุตรหลานของท่านในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแสดงออกที่โรงเรียน ให้ดียิ่งขึ้น (0/997) 
29-03-2022 รู้จัก “ส้มซูโม่” ที่กำลังดังเปรี้ยงทาง TikTok (0/2395) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข