ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
การพิจารณากาย ตามแนวสติปัฏฐาน 4


พุทธศาสนิกชนคนดีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา นอกจากจะให้ทานและรักษาศีลและบำเพ็ญบุญในแบบอื่นๆกันแล้ว ยังขวนขวายในการเจริญภาวนาเพื่อพัมนาสติปัญญาของตนให้สามารถทำกิจอย่างมีประสิทธิภาพลดหย่อนผ่อนความทุกข์ที่สามารถเข้ามาสู่ชีวิตจากทุกทิศทุกทางให้เบาบางลงเพื่อจะได้สัมผัสสันติสุข คือ ความสุขอันเกิดจากความสงบ ที่สามารถพบได้กลางใจในยามที่จิตไม่ถูกไฟ คือกิเลสบีบคั้น รุมเร้าและเผาผลาญ

สติปัฏฐาน 4 คือ การตั้งสติพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม เป็นวิธีเจริญสติและโยนิโสมนสิการที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่ครั้งต้นพุทธกาล ในที่นี่จะนำเรื่องการพิจารณากายเพียงเรื่องเดียวมาเสนอ เพราะมีพุทธศาสนิกชนผู้สนใจสติและสมาธิภาวนามักจะถามบ่อยๆว่า การพิจารณากายนั้นจะพิจารณาอย่างไรบ้าง เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ จะขอสรุปความย่อๆจากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระสุตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 หน้า 302-312 ตั้งแต่ข้อ 374 เป็นต้นไป โดยสรุปวิธีปฏิบัติได้ดังนี้

1. การพิจารณาลมหายใจเข้าออก โดยพิจารณาลมหายใจเข้าออกที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าให้เข้าใจลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด ลมหายใจผ่อนคลาย สงบระงับ ทำความเข้าใจในทุกลีลาของการหายใจที่ปรากฏเฉพาะหน้า หลวงพ่อพุทธทาสอธิบายวิธีปฏิบัติเรื่องนี้ไว้ว่า ตามดู ตามรู้ ตามเห็น หรือ การพิจารณาใคร่ครวญโดยแยบคายนั่นเอง

2. พิจารณาอริยาบถด้วยการรู้อย่างชัดๆว่า ยืน เดิน นั่ง หรือ นอน อยู่ทุกขณะ เมือกำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอน กล่าวคือ การตามดู ตามรู้ ตามเห็น การยืน การเดิน การนอน และการนั่ง ตามความเป็นจริงว่า มีความเกิดแล้วดับอยู่ทุกขณะ ผ่านมาแล้วผ่านไป 

3. พิจารณาความเคลื่อนไหวต่างๆของกายอย่างละเอียดในทุกความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน ยืน นอน นั่ง ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง เหลียวซ้ายและขวา คู้แขน เหยียดแขน นุ่งห่มเสื้อผ้า รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ขับรถ ทำงานในสวนในนาในไร่ในโรงงานในสำนักงาน เมื่อทุกอย่างดำเนินไป เพียงใส่ใจ รู้สึกตัวในขณะนั้นๆ คำสมัยใหม่ที่ใช้กันมากทั้งชาวพุทธไทยและผู้ใฝ่ใจภาวนาทั่วโลกคือ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ในทุกความเคลื่อนไหว ด้วยความถี่มากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการปฏิบัติเช่นนี้ ธรรมะจึงเป็นสมบัติสากาลที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ปฏิบัติได้ทั้งที่บ้าน ที่วัด หรือ ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

4. พิจารณากายเป็นสิ่งปฏิกูล โดยพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ล้วนเป็นของไม่สะอาดเปรียบเหมือนถุงของเน่าที่ผูกมัดไว้ มีปากถุงสองด้าน บนและล่าง สำหรับใส่เข้าไปและนำออก เมื่อเมื่ออาหารเก่าที่รับประทานเข้าไปผ่านกายโดยปากถุงด้านล่าง ออกมาล้วนเป็นของปฏิกูล แม้กายภายนอก ตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเท้า ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งปฏิฏูล ไม่น่ารัก ไม่น่าครอบครอง ไม่ยึดถือ ไม่น่ามี ทุกอย่างกำลังเดินไปสู่ความแตกดับอยู่ทุกขณะ

5. พิจารณาธาตุสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ให้เห็นเป็นกองๆเท่านั้น ไม่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้อย่างชัดเจนว่า ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือ ลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วนๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่

6. การพิจารณาซากศพชนิดต่างๆตามในป่าช้าสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นป่าช้า ที่ชาวบ้านนำศพไปทิ้งไว้ เป็นอาหารของสัตว์ป่าและนกบางชนิดกัดกินและเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา ในพระไตรปิฎกระบุซากศพที่จะนำมาพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกมีอยู่ 9 อย่าง หรือ ชาวบ้านที่เคยฟังสติปัฏฐานในข้อนี้เรียกกันว่า ป่าช้า 9 เช่น ซากศพที่เพิ่งตาย ซากศพที่เขาทิ้งแล้ว ถูก กา แร้ง นกตะกรุมและสุนัขกัดกิน ซากศพที่เขาทิ้งไว้ยังมีเนื้อและเลือดติดอยู่ ซากศพที่เนื้อหลุดออกไปแล้ว แต่มีรอยเลือดเปื้อนเปรอะ ซากศพที่ไม่มีเนื้อและเลือดแต่ยังมีเอ็นรัดรึงอยู่ ซากศพที่อวัยวะกระจุยกระจายไปคนละทิศคนละทาง ซากศพที่เหลือแต่กระดูกสีขาว ซากศพที่เขาทิ้งไว้เกินหนึ่งปี มีแต่ท่อนกระดูกกองอยู่ ซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าหลายปี มีแต่ชิ้นกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระจัดกระจายอยู่บนพื้นดิน

พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาซากศพอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าว่า “ภิกษุนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถึงกายนี้ก็มีสภพาอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้ ภิกษุนั้น มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้า พิจารณาว่า กายมีอยู่ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ และเจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย ตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลก”

การพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งกายภายในคือ กายของตนเอง และพิจารณากายภายนอกหรือ กายของคนอื่น ให้เห็นว่า เป็นเพียงสภาพที่ประกอบกันเข้าตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ท่ามกลางกระแสไหลไปตามกฎแห่งอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กายทั้งหมดนี้เรียกว่า เป็นรูปธรรม เมื่อไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีการรับรู้อะไร ตั้งอยู่เฉยๆรอวันสลายไปประดุจดั่งท่อนไม้และท่อนฟืน ชีวิตจึงเป็นเพียงสิ่งที่ประกอบกันขึ้นชั่วคราว ตั้งอยู่ได้เพราะเหตุปัจจัย เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ต้องหมดไปสิ้นไป ไม่มีใครขอร้องห้ามปรามบังคับบัญชาได้เพราะ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา เมื่อพบความจริงด้วยปัญญาจะเบื่อหน่ายและถึงคราวปล่อยวางว่างสงบเย็น อันเป็นประโยชน์สูงสุดแห่งการเข้าใจและพิจารณากายตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ตามพระพุทธประสงค์ทุกประการ

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ วัดพุทธปัญญา

เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วันที่ 17 มีนาคม 2564 เวลา 8.46 น.




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2808) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/649) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/614) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/683) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/671) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข