ข่าวคนไทยในอเมริกา
ไทยเทรดชี้ ‘พีต้าvsชาวเกาะ’ อาจมีประเทศอื่นอยู่เบื้องหลัง

แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : ผู้อำนวยการไทยเทรด แอลเอ ชี้สาเหตุที่ “พีต้า” ไม่ยอมฟังคำชี้แจงของไทยกรณี “ใช้ลิงเก็บมะพร้าว” เพราะอาจมีอุตสาหกรรมมะพร้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอยู่เบื้องหลัง แต่ย้ำไม่มีผลกระทบกับยอดส่งออกกะทิโดยรวม ที่ยังคงเป็นบวกในปีที่ผ่านมา แถม “คอสท์โก้” ได้กลับมาขายชาวเกาะเหมือนเดิมแล้วด้วย


สัปดาห์ที่ผ่านมา นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าการในต่างประเทศ ณ​ นครลอส แอนเจลิส หรือไทยเทรด แอลเอ ซึ่งเป็นสำนักงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลการนำเข้าสินค้าของไทยใน 14 รัฐตะวันตกของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สยามทาวน์ยูเอส ถึงกรณีห้างค้าปลีกหลายแห่งในอเมริกา เช่น เวกแมนส์, คอสท์โก้, ทาร์เก็ต, ซูเปอร์คิง ได้ประกาศระงับจำหน่ายกะทิชาวเกาะของประเทศไทย ตามแรงกดดันที่ได้รับจาก PETA หรือ People for the Ethical Treatment of Animals ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่มีสำนักงานใหญ่ในเวอร์จิเนีย ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้มีการ “บังคับใช้” แรงงานลิง

โดย ผอ.ไทยเทรด แอลเอ บอกว่า พีต้า เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 (ก่อนอังกฤษ) แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากนัก อีกทั้งผู้จัดจำหน่าย (distributor) ผลิตภัณฑ์กะทิชาวเกาะให้กับห้างค้าปลีกใหญ่ของเมริกา เช่นโครเกอร์ หรือวอลมาร์ท ก็พอใจกับคำชี้แจงของบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าวฯ และรัฐบาลไทย ปัญหาจึงไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น

“เราก็ชี้แจงไปว่าในความเป็นจริงมันทำไม่ได้หรอก อุตสาหกรรมมะพร้าวเราใหญ่มาก วอลลุ่มเป็นพันล้าน การที่จะใช้แรงงานลิงมาเก็บมะพร้าวมันไม่คุ้มแน่นอนนะคะ และที่สำคัญมันก็ฝืนกระแสด้วย แล้วอุตสาหกรรมเราต้องยอมรับว่ามาตรฐานสูงมาก ไม่งั้นส่งออกไปทั่วโลกไม่ได้ พอเราชี้แจงไปเขาก็ยอมรับในข้อมูล และขอให้เราทำเปเปอร์ ซึ่งเราก็ได้ประสานไปยังส่วนกลาง ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในเมืองไทย ขอให้ออกเป็นแถลงการณ์ร่วม (Joint statement) เพื่อชี้แจงให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวบ้านเรา ซึ่งในตอนนั้นเราก็ไดจัดการส่งอันนี้ให้กับดีสทริบิวเตอร์ และห้าง ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้และก็จบกันไป”

อย่างไรก็ดี เมื่อเคลื่อนไหวและสร้างกระแสในอเมริกาไม่สำเร็จ พีต้า ก็ได้ไปเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ที่อังกฤษในปี 2019 และกลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนของอังกฤษให้ความสนใจ และตีข่าวอย่างแพร่หลาย จนเกิดเป็นกระแส จนลุกลามกลับมายังอเมริกาอีกครั้ง

“เขาก็เริ่มเล่นกับกระแสสื่อหลัก ไปให้ข่าวกับสื่อหลักๆ สื่อทีวี สื่อออนไลน์อะไรพวกนี้ พอสื่อพวกนี้เล่นปุ๊บ ห้างก็เริ่มกังวลว่าผู้บริโภคบางคนที่ไม่เข้าใจจะไปเชื่อตามข่าว จะมาโจมตีห้าง ห้างเองรับความกดดันบางส่วนไม่ไหว ซึ่งบางห้างเข้าใจเรา พยายามขอข้อมูลจากเราเพื่อเอาไปใช้ชี้แจงกับทางพีต้า กับทางผู้สื่อข่าว และกับทางลูกค้าเอง แต่บางส่วน เขาอาจจะถือว่ากะทิไม่ใช่ สินค้าหลักของเขา ก็เลยตัดสินใจยอมไม่ขายสินค้าไป พอเขาไม่ขายปั๊บ มันกลายเป็นว่า พีต้า ได้ใจ เอามาเล่นต่อ ขยายต่อไปเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ดี ผ.อ.ไทยเทรดแอลเอ ยืนยันว่าการทำงานในลักษณะให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงกับผู้จัดจำหน่ายและธุรกิจขนาดใหญ่ในอเมริกานั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลในด้านบวกมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงทำให้ธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา เช่นห้างวอลมาร์ท (มากกว่า 4,700 สาขาทั่วประเทศ) และโครเกอร์ (กว่า 2,700 สาขาทั่วอเมริกา) ยังคงจำหน่ายกะทิชาวเกาะต่อไปโดยไม่สนใจแรงกดดันของพีต้า ส่วนห้างคอสท์โก้ ที่มีข่าวว่ายกเลิกการจำหน่ายกะทิชาวเกาะไปแล้วนั้น ขณะนี้กลับมาจำหน่ายกะทิไทยเหมือนเดิมแล้ว

“คอสท์โก้ที่มีข่าวว่าถอดกะทิชาวเกาะนั้น เราพูดถึงปีต้นปี 2019 ค่ะ ซึ่งในครั้งนั้น ไม่ได้ถอดนะคะ คำว่าถอดคือดึงออกจากหิ้ง แต่คอสท์โก้เขาขอแค่ว่าในระหว่างหาข้อมูลข้อเท็จจริง ยังจะไม่มีการสั่งออร์เดอร์เพิ่ม คอสท์โก้ก็ได้หาทางออกกับทางเทพผดุงพรฯ ในเรื่องของ Traceability หรือระบบการตรวจสอบย้อนกลับ แล้วก็ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าฟาร์มทุกฟาร์มที่ส่งสินค้าให้เทพผดุงพรฯ ไม่มีการใช้แรงงานลิง พอเขามั่นใจในหลักฐานเหล่านี้แล้ว ตอนนี้คอสท์โก้กลับมาสั่งใหม่แล้วค่ะ”

ผ.อ.ไทยเทรด แอลเอ บอกด้วยว่าขณะนี้ ปัญหาภาพพจน์ของกะทิชาวเกาะในสายตานักธุรกิจอเมริกันและผู้บริโภคอเมริกันนั้นดีขึ้นมาก เพราะการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างบริษัทเทพผดุงพรฯ ในช่วงที่ผ่านมา

"แต่ยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะออกสื่อดังๆ ได้” ผอ.ไทยเทรด แอลเอ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ พีต้า ไม่รับฟังคำชี้แจงและข้อเท็จจริงของไทย และยังคงเดินหน้ากดดันธุรกิจค้าปลีกใหญ่ๆ ในอเมริกาให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับกะทิชาวเกาะอย่างต่อเนื่องนั้น นางขวัญนภา ผิวนิล กล่าวว่าตนเองก็แปลกใจมาก จึงได้ลองค้นคว้าหาข้อมูลมาวิเคราะห์เช่นกัน

“ขอเป็นข้อสังเกตุส่วนตัวนะคะ ในช่วงแรกเราก็สงสัยแปลกใจมาก ยอมรับว่าในช่วงแรกก็เคยลองไปดูข้อมูลเหมือนกัน แต่อันนี้ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะ คิดว่าอาจจะมีอุตสาหกรรมมะพร้าวหรือกะทิจากบางประเทศที่ได้อานิสงค์จากการที่กะทิไทยเราได้รับผลกระทบ ก็เป็นไปได้”

ถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบใดๆ กับยอดส่งออกกะทิของไทยมาจำหน่ายในอเมริกาบ้างหรือไม่ ผ.อ.ไทยเทรด แอลเอ กล่าวว่าไม่มีเลย

“เนื่องจากว่า ตลาดที่พีต้าเจาะจงเล่น เป็นตลาดที่เราเรียกว่า เมนสตรีม เป็นตลาดฝรั่ง ซึ่งสัดส่วนของกะทิในตลาดเหล่านี้ยังค่อนข้างน้อย มีอยู่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ตลาดใหญ่จะเป็นตลาดเอเชียกับตลาดร้านอาหาร ซึ่งต้องเรียนว่าตัวเลขการส่งออกทั้งหมดของกะทิไทยมายังอเมริกาในปีที่ผ่านมาไม่ได้ลดลง เป็นบวกด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิ (ทุกยี่ห้อ) มาจำหน่ายในอเมริกา คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 200 ล้านดอลลาร์ โดยมีการขยายตัวในปี 2020 ประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี นางขวัญนภา ผิวนิล ยอมรับว่าหากพีต้ายังไม่หยุดเคลื่อนไหว ก็อาจจะไม่เป็นผลดีในอนาคต เพราะทางสำนักงานฯ ต้องการส่งเสริมสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดกระแสหลักของอเมริกาให้มากขึ้น ดังนั้นทางสำนักงานฯ จึงต้องทำงานส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ควบคู่ไปกับการทำงานด้านอื่นๆ อย่างจริงจังต่อไป.


ขวัญนภา ผิวนิล



 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข