ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ความทรงจำสมัยเรียนบาลีวัดขันเงิน ตอนที่ 6 ภัตตาหารเพลมหาชน


หากจะพิจารณาถึงองค์ประกอบสำคัญในการตั้งสำนักเรียนบาลี นอกจากจะต้อง มีเจ้าสำนักเรียน อาจารย์สอน และนักเรียนบาลีแล้ว อาหารเช้าอาหารเพลที่พระภิกษุสามเณรจะฉันเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะในวัดที่พระภิกษุสามเณรอาศัยอยู่จำนวนมาก อาหารบิณฑบาตอาจจะขาดแคลนไม่เพียงพอที่จะฉันทั้งอาหารเช้าและอาหารเพล ในตลาดหลังสวนนั้น แม้ว่าประชาชนในตลาดจะใจบุญทำบุญตักบาตรกันจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีพระภิกษุสามเณรจากหลายวัดมุ่งหน้าบิณฑาตในตลาดแห่งเดียวกันนี้ ย่อมต้องมีความขาดแคลนเป็นธรรมดา

ด้วยสภาพอาหารเช้าน้อยหรือบางวันไม่ได้ฉัน พ่อหลวงเจ้าคุณพระราชญาณกวี จึงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะบริจาคปัจจัยที่ท่านได้รับจากงานแสดงธรรมหรือประชาชนถวายท่านเป็นการส่วนตัวเพื่อจัดอาหารเพลที่มีสารอาหารครบถ้วนพอสมควรแก่ลูกเณรลูกพระ หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า ท่านเทย่ามเลี้ยงลูกเณรลูกพระกันเลยทีเดียว พ่อหลวงเจ้าคุณมีความเมตตาสูงเหมือนพ่อดูแลลูก จำได้ว่า เวลาที่พระภิกษุสามเณรลงโรงฉันตอนเพล อาหารหลักส่วนมากมีข้าว แกงและผักเท่านั้น ผลไม้หรือขนมหวานแทบไม่เคยพบกันเลยนอกจากเทศกาลสำคัญๆเท่านั้น

บางครั้ง ชาวบ้านที่นับถือพ่อหลวงเจ้าคุณฯมากนำกล้วยมาถวายหวีใหญ่ หนึ่งหรือสองหวี พ่อหลวงฯ ไม่เคยเก็บไว้ฉันเองรูปเดียว แต่จะนำมาลงโรงฉัน ก่อนอื่นท่านจะนับพระภิกษุสามเณรที่ฉันอาหารด้วยกันในวันนั้น แล้วท่านก็จะตัดกล้วยออกเป็นชิ้นๆเช่นถ้าเป็นกล้วยหอม ผลละสามชิ้น ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้า ผลละสองชิ้น เสร็จแล้วท่านจะหยิบไว้ฉันชิ้นเดียว จากนั้นก็ส่งจานกล้วยต่อไปจนถึงสามเณรรูปสุดท้าย พระภิกษุสามเณรทุกรูปได้ฉันรูปละ 1 ชิ้นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระมหาเถระหรือ สามเณรน้อย แม้บางคราวมีขนมเป็นชิ้นๆท่านก็จะหยิบชิ้นเดียวแล้วส่งต่อจนรูปถึงสามเณรสุดท้าย ภาพเหล่านี้ คือ ความเมตตาที่ฝังหยั่งรากลึกลงสู่จิตใจอย่างลึกซึ้งยากแก่การถอดถอนออกไปได้ กล้วยชิ้นเดียวของพ่อหลวงฯที่หยิบยื่นให้ลูกเณรน้อยน้อย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แขวนติดใจไม่หาย แม้เติบโตเป็นเจ้าอาวาสแล้ว หากได้รับขนมหรือผลไม้แปลกๆต้องแบ่งกันเสมอ 

แม้เมื่อมาอยู่ที่อเมริกา ถ้าได้ทุเรียนมาสัก สามสี่เม็ด มักจะให้ญาติโยมไปทำกะทิข้าวเหนียวทุกเรียนดีกว่าจะฉันเพียงรูปเดียว เพราะปริมาณมากขึ้น จะได้แบ่งปันกันอย่างทั่วถึง เวลาใครมอบอะไรเป็นการส่วนตัว มักจะนึกถึงส่วนรวมก่อนว่าจะมีประโยชน์อะไรกับคนอื่นได้บ้างไหม การคิดถึงส่วนรวมก่อน คือ สังฆทานนั้นเอง สังฆทานแท้ๆ คือ วัตถุสิ่งของ หรือ ข้าวปลาอาหารที่มอบแก่ส่วนรวมเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของส่วนรวมล้วนเป็นสังฆทานทั้งนั้น 

ความดำริของพ่อหลวงฯเรื่องพระภิกษุสามเณรต้องได้อิ่มอย่างน้อยหนึ่งมื้อต่อวัน ได้รับการตอบสนองและช่วยเหลือจากทุกฝ่ายตามสติกำลัง ภายในวัดเองนอกจากมีพระอาจารย์หัวเรี่ยวหัวแรง คือ อาจารย์พระมหาบุญชัย มหาวีโร เป็นอาจารย์ใหญ่ อาจารย์พระมหาองอาจ ฐิตธมฺโม และ อาจารย์พระมหาจันทร์ ฐิตวํโส เป็นอาจารย์สอนบาลีประจำแล้ว ฝ่ายการครัว มีหลวงพ่อสมาน คนฺธวีโร เป็นผู้จัดการดูแลด้านอาหาร มีป้าทัย เกื้อสกุล เป็นแม่ครัวหลัก คือ ปักหลักอยู่ที่วัดทำอาหรถวายพระมาตั้งแต่เริ่มสำนักเรียน 

หลวงพ่อสมาน คันธวีโร หรือ คนท้องถิ่นเรียว่า พ่อหลวงหมาน แบบภาษาใต้ หรือ บางทีเรียกว่า ท่านหมานก็มี ขึ้นอยู่กับความรู้สึกสนิทสนมขนาดไหน พ่อหลวงหมาน เป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวขอนแก่ มาอยู่วัดขันเงินตั้งแต่ยุคท่านเจ้าคุณเฒ่า คือ พระเทพวงศาจารย์ ต่อมาเมื่อสำนักเรียนบาลีเปิดพ่อหลวงหมานก็อยู่ต่อช่วยงานด้านเสบียงอย่างเข้มแข็ง สมัยที่ท่านยังแข็งแรง ท่านจะผ่าฟืน หุงข้าวด้วยกะทะใบใหญ่ๆด้วยตัวของท่านเอง ท่านมีอารมณ์ดีคุยสนุกสนาน ประชาชนที่มาวัดขันเงินจึงมักแวะคุยกับท่านด่านหน้า อยู่ข้างๆโรงฉัน ท่านรับแขกรับของต่างๆที่จะมาใช้งานในครัว บางทีชาวบ้านมีฟักแฟง แตงกวา เงาะทุเรียน ลางสาดจะถวายพระ ก็ฝากไว้ที่พ่อหลวงหมานจะเป็นศูนย์รวมเรื่องข้าวของเครื่องใช้ในครัวทั้งหมด

พูดถึงเรื่องการหุงข้าวด้วยกะทะใบหญ่ๆ คนหุงจะต้องเก่งเพราะหุงยากถ้าหุงพลาดจะดิบทั้งกะทะหรืออาจจะเปียกทั้งหมด คนเก่งจึงหุงพอดี พ่อหลวงหมานมือวางอันดับหนึ่งในการหุงข้าวกะทะ ชนิดที่คนหนุ่มๆในหมู่บ้านต้องมาเรียนกับท่าน เพื่อนำไปใช้งานในเวลามีงานใหญ่ๆเช่นงานแต่งงาน งานบวชนาคงานฉลองพระใหม่คนหนุ่มที่หุงข้าวกะทะได้ จะเป็นคนมีเกียรติ์ คนหนุ่มๆเหล่านี้มาฝึกกับท่านผ่านภาคปฏิบัติท่านควบคุมจนหุงได้อย่างดี 

นอกจากนี้ท่านยังเลือกคัดเลือกสามเณรโตๆฝึกฝนไว้หลายรูป ทุกรูปก็สนุกสนานกับการได้หุงข้าวกะทะเป็นการออกกำลังกายอย่างดี สามเณรกลุ่มนี้เรียกว่า ลูกน้องพ่อหลวงหมาน ถ้ามีงานใหญ่ๆเช่น ประชุมพระสังฆมาธิการ ทีมลูกน้องพ่อหลวงหมานจะทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อหลวงหมาน ซึ่งยืนบัญชาการและเดินดูเรื่องราวต่างๆรอบๆบริเวณนั้นจนเหงื่อท่วมตัวอังสะเปียกปอน ท่านสุขภาพดีไม่เจ็บไม่ไข้ เรียกว่า สุขกายสบายใจทีเดียว

พ่อหลวงหมานนับว่า เป็นบรรพบุรุษของชาวอิสาณที่ลงมาอยู่หลังสวนจนตลอดชีวิต ท่านพยายามพูดภาษาใต้ตลอดเวลา ท่านฝึกจริงๆจัง จึงมีภาษาใต้แบบพ่อหลวงหมานที่ผสมระหว่าภาษาอิสาณและภาษาใต้อย่างลงตัว ใครๆก็รักพ่อหลวงหมาน แม้แต่เด็กเล็กๆเด็กอนุบาลก็มาเล่นแถวกุฏิพ่อหลวงหมาน เคยมีเรื่องชวนหัวกันคือ สามีภรรยาแยกทางกัน นำลูกมาฝากพ่อหลวงหมาน พระเณรช่วยกันเลี้ยง แล้วพ่อแม่ก็มารับคืนเมื่อคล่องตัวแล้ว ท่านเมตตาจริงๆ

พูดถึงเรื่องพ่อหลวงหมานผ่าฝืนแล้วก็ ต้องเล่าให้ฟังว่า โรงครัวใหญ่ที่จะต้องจัดอาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรมาเช่นนั้น ต้องใช้ไม้ฟืนมาก ไม้ฟืนเหล่านี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประสานงานให้พ่อหลวงหมานไปรับ ไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นไม้แห้งวางอยู่ตามพืนดินเป็นเวลานานๆ เป็นไม้ตายยืนต้นแล้วหักโค้นเพราะลมหรือพายุพัดผ่านมา ชาวบ้านพบเข้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การใช้หุงข้าวและทำอาหารเลี้ยงพระมากๆจึงบอกกันมาเรื่อยๆ

การไปรับไม้ฟืน เป็นกิจกรรมที่พระเณร ชอบมาก คือ วันพระเล็ก คือ แปดค่ำ หลังเพลแล้วพ่อหวงหมานจะเลือกสามเณรที่มีร่างกายกำยำล่ำวัน สัก 5-6 รูป หรือ  10 รูป พ้อมด้วยเลื่อยขวาน มีดพร้าพร้อมอุปกรณ์อื่นๆที่จะใช้ในการนำไม้ขึ้นรถ จากนั้นญาติโยมที่มีรถบรรทุกขนาดเล็กส่วนมากเป็นรถเก่าๆที่ใช้บรรทุกผลไม้หรือปุ๋ยจากตลาดไปยังสวน เมื่อหารถได้แล้วก็นั่งกันไปยังจุดนัดพบตามสวนชาวบ้าน หรือ บางคราวในป่าที่ไม้ล้มเพราะลมโค่นหักลงมา เมื่อไปถึงจะเลื่อยเป็นดุ้นใหญ่ๆ เตรียมเป็นดุ้นฟืน ครั้นเลื่อยเสร็จก็ช่วยกันยกขึ้นรถแล้วสามเณรก็นั่งมาบนไม้ฟืน เมื่อมาถึงวัด ก็ช่วยกันผ่าฟืนส่วนหนึ่งเป็นการช่วยเบาแรงพ่อหลวงหมาน แล้วเก็บส่วนหนึ่งเรียงให้เป็นระเบียบเพื่อให้พ่อหลวงมานออกกำลัง

เรื่องการจัดอาหารเพลคงจะยังไม่จบในบทนี้เพราะการจัดอาหารเพลเลี้ยงพระภิกษุสามเณรก็เป็นเรื่องของความมีน้ำใจของพุทธศาสนิกชนหรือชาวบ้านที่หลั่งไหลมาจากทั่วทิศ ใครมีผลไม้ผักตามฤดูกาลก็มักจะคิดถึงวัดเสมอ บางทีป้าทัยไปซื้อของในตลาดก็จะมีคนทำบุญด้ยผักผลไม้มาเสมอ แม้ค้าพ่อค้าบางคนทั้งขายทั้งแถมกลับมาจากตลาดพร้อมผักเต็มรถสามล้อ

มีการกล่าวว่ากองทัพเดินด้วยท้อง จริงๆแล้วพระภิกษุสามเณรที่เรียนหนักพักน้อยก็ต้องเดินด้วยท้องเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เองทั้งพ่อหลวงเจ้าคุณฯและพุทธศาสนิกชนจึงเสียสละเพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีอาหารเพลทุกมื้อ มองๆดูแล้ว อาหารเพลวัดขันเงินทุกมื้อที่สำเร็จลงล้านมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนจำนวนมาก จึงกล่าวได้ว่า เป็นอาหารเพลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน พระภิกษุสามเณรที่ฉันอาหารแล้ว จึงเป็นพระของประชาชน โดยประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนเลี้ยงดู

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 9.44 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2827) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/687) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข