ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
บันทึกไว้สมัยเรียนที่วัดประยุรวงศาวาส ตอนที่ 22 แสดงพระธรรมเทศนาบนธรรมศาลา


เป็นที่ทราบกันดีในวงการคณะสงฆ์แต่โบราณกาลมาว่า วัดประยุรวงศาวาส เป็นวัดนักปราชญ์และนักเทศน์ มีพระเปรียญธรรมสูงๆและนักเทศน์ชั้นดี พำนักอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาสมากมาย ดั่งในยุคปัจจุบันนี้ มีพระพรหมบัณฑิต ที่เป็นทั้งนักปราชญ์ เจ้าอาวาสและนักเทศน์ เมื่อมีงานศพหรืองานสวดอื่นๆตามศาลาต่างๆรวมทั้งธรรมศาลาใหญ่ของวัด สามเณรจะไม่มีโอกาสได้เทศน์เลย เพราะเพียงแต่คิวของพระนักเทศน์ก็ยาวเหยียด ต้องรอกันเป็นเดือนๆจึงจะได้ลงเทศน์ศาลาศพหรือเทศน์สังคายนาก่อนเผาศพสักครั้ง

แต่ทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนมีข้อยกเว้นเสมอ อยู่มาวันหนึ่ง เวลาพลบค่ำ ขณะที่นั่งทำการบ้านอยู่ตรงห้องโถงคณะ 10 ด้วยความเพลิดเพลิน มีเสียงเคาะประตูคณะดังขึ้น แล้วประตูก็เปิดออก ผู้ที่มาเยือนในยามวิกาล เป็นผู้ชาย ร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ สวมเสื้อสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีขาว ตรงเข้ามายกมือไหว้แล้วถามว่า สามเณร ชื่ออะไรครับ

 ตอบทันทีว่า ชื่อสามเณรจรรยา คงจินดา 

แขกแปลกหน้าทบทวนชื่อและนามสกุลอยู่สองสามครั้งแล้วถามต่อไปว่า 

สามเณรจรรยา คงจินดาเทศน์ได้ไหมครับ 

 อาตมาก็ตอบทันทีว่า เทศน์ได้

 แขกยามวิกาลคนนั้นจึงกล่าวต่อไปอีกว่า รีบห่มจีวร เดี๋ยวจะพาไปเทศน์บนศาลา

 ชายแปลกหน้า เรียกธรรมศาลาหน้าวัดสั้นๆว่า ศาลา

หลังจากห่มจีวรแบบห่มดองตามระเบียบของวัดเรียบร้อยรัดกุมดีแล้ว ก็ชวนกันเดินลัดเลาะคณะต่างๆจนมาถึงธรรมศาลาหน้าวัด เนื้อที่บนศาลากว้างใหญ่ มีอุบาสกอุบาสิกาในชุดขาว หรือ ชุดเสื้อผ้าที่เรียบร้อยสีไม่ฉูดฉาดไม่น้อยกว่า 100 คน นั่งรอกันอยู่ พอเห็นอุบาสกนำสามเณรขึ้นมาบนศาลา มุ่งตรงไปยังหน้าพระประธาน ครั้นกราบพระประเสร็จธานแล้ว นั่งบนอาสนะที่อุบาสกชี้ให้นั่ง สายตาทุกคู่ก็จ้องมองมายังสามเณรแปลกหน้าผิวคล้ำดำเมี่ยมอย่างไม่กระพริบ

อุบาสกท่านนี้ ทราบภายหลังว่า ลุงเฉลิม หรือ พระภิกษุสามเณรเรียกกันด้วยความคุ้นเคยว่า ลุงเหลิม เป็นหัวหน้าอุบาสกอุบาสิกา ผู้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและอาราธนาศีลอาราธนาธรรมด้วยความชำนาญอยู่บนศาสลาแห่งนี้

 วันนั้นลุงเหลิม นิมนต์ให้ขึ้นธรรมาสน์ ด้วยการจุดเทียนส่องธรรมที่วางไว้บนธรรมาสน์ นักเทศน์ทั้งหลายสั่งสอนต่อๆกันมาว่า พระนักเทศน์ไปเทศน์ที่ไหน พอญาติโยมจุดเทียนส่องธรรมหน้าธรรมาสน์ก็ก้าวขึ้นธรรมมาสน์ได้เลย ไม่ต้องรอให้นิมนต์ด้วยวาจา

นับเป็นครั้งแรก ที่สามเณรบ้านนอกอย่างอาตมาผู้เริ่มต้นชีวิตนักเทศน์ด้วยการนั่งเทศน์บนเสื่อเก่าๆปูทับด้วยผ้าคะม้าคนแก่ ที่วัดเขาแงน อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรเมื่ออายุ 14 ขวบ บัดนี้ ได้ก้าวขึ้นสู่ธรรมมาสน์บนธรรมศาลาขนาดใหญ่ ต่อหน้าท่านผู้ฟังที่ล้วนเป็นสัปบุรุษที่ผ่านการฟังธรรมของพระธรรมกถึกเอกนับไม่ถ้วน ถือว่าเดินทางมาไกลสุดกู่ เป็นเกียรติยศแห่งชีวิตยิ่งนัก 

การที่ลุงเหลิม ไปคว้าตัวมาเทศน์ในวันนั้น เนื่องจากศาลาศพทุกศาลามีคนมาบำเพ็ญกุศลศพเต็ม นักเทศน์ที่เคยเทศน์บนธรรมศาลาต้องไปเทศน์ที่ศาลาศพกันหมดจนไม่มีเหลือเทศน์ที่ธรรมศาลาในวันอุโสถเลย

 ลุงเหลิม เดินเคาะประตูไปหลายคณะ จนมาเจออาตมาที่คณะสิบนี่แหละ ลุงเหลิมและอุบาสกอุบาสิกา คงจะตั้งใจฟังธรรมเอาบุญให้ครบถ้วนตามกิจวัตรของอุบาสกอุบาสิกาที่ถืออุโบสถศีลแล้วทำวัตรสวดมนต์ฟังธรรมให้ครบสามครั้งในวันธรรมสวนะตามประเพณีอันดีงามที่เคยปฏิบัติกันมา

อย่างไรก็ตามขณะนั้นก็รีบปรับสติให้เข้าที่เข้าทาง ระงับยับยั้งความประหม่าที่เริ่มจะสั่นสะท้านเมื่อก้าวขึ้นนั่งบนธรรมสาสน์ เหงื่อเริ่มไหลออก ลุงเหลิม เมื่ออาราธนาธรรมแล้วเดินมาเปิดขวดน้ำรินน้ำใส่ก้าวยกขึ้นประเคนให้ด้วยความเอ็นดู เมื่อตั้งนะโมและกล่าวนิเขปบทหรือพุทธภาษิตที่จะขยายเวลาแสดงธรรมแล้วจึงตั้งใจแสดงธรรม จำได้ว่า ขึ้นพระพุทธภาษิตง่ายๆว่า ธัมมจารี สุขัง เสติ แปลว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข และหลักธรรมที่นำมาแสดงวันนั้น คือ อริยมรรคมีองค์แปด อันประกอบไปด้วย

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง

2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูกต้อง

3. สัมมาวาจา การพูดจาถูกต้อง

4. สัมมากัมมันตะ การทำการงานถูกต้อง

5. สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพถูกต้อง 

6. สัมมาวายามะ ความเพียรถูกต้อง

7. สัมมาสติ ระลึกถูกต้อง 

8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจถูกต้อง 

ตอนเริ่มชีวิตนักเทศน์นักบรรยายธรรมถึงปัจจุบันนี้ ตั้งใจว่า ทุกครั้งที่แสดงธรรม ต้องมีเนื้อหาสาระให้แก่ผู้ฟังเสมอ เพื่อตอบโจทย์ที่พุทธศาสนิกชนนักฟังธรรมมักจะถามว่า ฟังเทศน์แล้วได้อะไร จึงต้องมีอะไรมามอบให้เมื่อฟังธรรม 

ขณะที่กำลังเพลิดเพิลนกับการขยายความธรรมะจนไม่รู้สึกประหม่าแล้ว ในบัดดล หลวงพ่อเจ้าอาวาส พระเทพประสทิธิคุณ สมณศักดิ์ในขณะนั้นก็เดินขึ้นมา ความประหม่าน้อยๆกลับมาเยือนอีก สังเกตดูหลวงพ่อฯกราบพระประธานแล้ว มานั่งอาสนะประจำเจ้าอาวาสที่อุบาสกอุบาสิกาตั้งไว้ถวายท่าน ต่อมาท่านก็พนมมือฟังธรรมจนอาตมาแสดงธรรมจบ

นับเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงครั้งใหญ่ ที่พระมหาเถระผู้อบรมตนมาดีแล้วมีจริยวัตรงดงาม เป็นผู้เคารพพระธรรมยิ่งนัก สามารถพนมมือฟังธรรมแม้แสดงโดยสามเณรรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่ออาตมาแสดงธรรมจบ ให้พรตามธรรมเนียมของการแสดงธรรมแล้วจึงเดินตรงไปหาท่าน พอเข้าใกล้ประมาณสัก 5 เมตร ก็คุกเข่าแล้วเดินเข่าเข้าไปถึงที่นั่งของท่าน กราบลงบนพื้นสามครั้งด้วยความเคารพสุดซึ้ง

เมื่อเคยหน้าขึ้นมองท่าน แล้วท่านก็ถามว่า สามเณรเคยเทศน์มาก่อนไหม 

กราบเรียนท่านว่า เคยเทศน์ตอนอยู่หลังสวน 

ท่านชื่นชมว่า สามเณรเทศน์ดีมีสาระแน่น

 กล่าวจบแล้ว เรียกลุงเหลิมมาบอกว่า คราวหน้าถ้าหาพระนักเทศน์ไม่ได้ โยมก็นิมนต์สามเณรจรรยามาเทศน์อีกนะ เทศน์ดี

 หลวงพ่อจำชื่ออาตมาแม่นเพราะลงทำวัตรให้ท่านเห็นเป็นประจำ เมื่อสนทนากันพอสมควรจึงกราบลาท่านกลับกุฏิด้วยจิตใจที่พองโตปลาบปลื้มอิ่มเอมใจเหมือนตัวจะลอยได้ก็มิปาน นี่กระมังที่ทางธรรมเรียกว่า ปีติ แล้วค่อยๆลดเป็นปัสสัทธิ คือสงบลง เยือกเย็นเป็นสุข 

ตั้งแต่บัดนั้นมาชีวิตเปลี่ยนไป คือ ต้องอยู่อย่างเตรียมพร้อม ต้องหาหนังสือธรรมะอ่านไว้ไม่ขาด เพราะถ้าเมื่อไร ลุงเหลิมมาเคาะประตูจะได้เดินตามไปแสดงธรรมได้ทันที เดือนต่อๆมา ลุงเหลิม ได้มานมนต์ไปแสดงธรรมอย่างน้อยเดือนละ 1 ถึง 2 ครั้ง และทุกครั้งก็ต้องเจอหลวงพ่อเจ้าอาวาส การเตรียมเรื่องแสดงธรรมต้องไม่ซ้ำกันเพราะหลวงพ่อท่านเป็นนักเทศน์ใหญ่ ทำให้อาตมากระตือรือร้นที่จะค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆมาเทศน์แก่ญาติโยม ต่อหน้าหลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ดีที่สุดตามความสามารถที่มีอยู่  ตามคติพื้นบ้านปักษ์ใต้ว่า โนราห์(มะโนราห์)ดีต้องเล่นต่อหน้าครูใหญ่

เมื่อแสดงธรรมผ่านไปหลายวันพระ เจ้าหน้าที่ของวัดมาเคาะประตูแจ้งว่าว่า ให้ไปที่สำนักงานกลางของวัดตั้งอยู่ที่หน้าวัดใกล้ๆศาลาศพ ข้างๆเมร์เผาศพ 

 อาตมาเดินตามไปอย่างว่าง่าย เมื่อไปถึงสำนักงานของวัด เจ้าหน้าที่นำซองออกมาเขียนจ่าหน้าซองว่า กัณฑ์เทศน์สามเณรจรรยา คงจินดา จำนวน 50 บาท อาตมารับซองแล้วเซ็นชื่อกำกับว่า รับเงินจำนวน 50 บาทลงในสมุดบันทึกของเจ้าหน้าที่การเงินของวัด

 ตอนที่เดินกลับกุฏิคิดในใจว่า เจ้าหน้าที่รู้จักชื่อนามสกุลของเราได้อย่างไร คาดเดาไปว่า ลุงเหลิม คงจะรายงานให้ฝ่ายการเงินของวัดทราบเพราะลุงเหลิมถามชื่อแล้วทบทวนไปมาหลายครั้งจนจำขึ้นใจ

การไปรับเงินที่สำนักงานกลางของวัด ได้เรียนรู้ระบบการเงินของวัดที่พุทธศาสนิกชนทำบุญเข้ากองกลาง  แล้ว ทางวัดจะกำหนดถวายแก่พระภิกษุสามเณรอย่างไร ก็มีคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดจัดการแต่ละเรื่องอย่างเป็นระบบ  การเงินของแต่ละวัดที่จะเป็นของสงฆ์หรือถวายแก่พระภิกษุให้ใช้จ่ายส่วนตัวเช่นค่าเล่าเรียน ค่ารถ ค่าเรือ ค่าอาหาร ค่าสมุดปากกา ค่าเล่าเรียน ตามความจำเป็น ก็ได้จัดระบบแบ่งสันปันส่วนไว้อย่างดี

เช่นทางวัดถวายเงินมา 50 บาท เป็นส่วนตัว อาตมานำไปจ่ายค่า วัตถุดิบปรุงอาหารเพลที่ต้องช่วยกันลงขันซื้อข้าวสาร อาหารและเครื่องปรุงต่างๆ ค่าเรือข้ามฟากซันตาครู๊ส ปากคลองตลาด ค่ารถตุ๊กๆ ค่าอาหารเพลมื้อพิเศษ เช่น ข้าวเหนียว ซุปหน่อไม้ ราคา 10 บาท หรือ 15 บาท ค่าน้ำปานะตอนเย็น หลังจากที่อดน้ำปานะต้องฉันน้ำประปาต้มแทนมานาน เมื่อมีเงินมา ก็จะได้ลิ้มรส น้ำส้ม น้ำชา กาแฟเย็นหรือนมค้นชงกับโคคาโคล่า หรือโซดาจืดใส่น้ำแข็งทุบ ได้ฉันแล้วชื่นใจบ้าง ทั้งนี้จะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นแบบประหยัดสุดๆ

เมื่อย้อนกลับไปในอดีตก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่มีอุปการคุณ อันไม่สามารถจะเอ่ยนามได้ กว่าจะชีวิตจะแก่ถึงขนาดนี้ต้องผ่านคนดีมีพระคุณจำนวนมาก เมื่อสำนึกบุญคุณของทุกท่านแล้ว  ใช้ชีวิต เลือดเนื้อ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ที่ได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียน การคบหาสมาคมและการฝึกอบรมทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ  จะเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ดีที่สุด

ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 5.55 น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2808) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/649) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/614) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/683) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/671) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
597
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข