ข่าวคนไทยในอเมริกา
เผยเหตุไบเดนไม่เลือก “ลัดดา” เป็นวีพี เพราะ “แม่ไทย”

โดย : ภาณุพล รักแต่งาม


กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งสำหรับคนไทยและบรรดาไมนอริตี้ทั่วอเมริกา เมื่อมีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่ โจ ไบเดน ปฏิเสธไม่เลือกวุฒิสมาชิก ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ เป็น “รันนิ่งเมท” ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทั้งที่ดูเหมือนว่าเธอมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น

เหตุผลที่ไบเดนอ้างคือ... เพราะคุณลัดดามีแม่เป็นคนไทย อีกทั้งยังเกิดที่ประเทศไทยด้วย

ที่บอกว่าเป็นประเด็นที่ “ไมนอริตี้” ทั่วประเทศให้ความสนใจ ก็เพราะว่าสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองลูกครึ่งไทยถูกปฏิเสธนี้ น่าจะเป็นสาเหตุเดียวกันที่ทำให้นักการเมืองผิวสีจำนวนเยอะแยะมากมาย ถูกปฏิเสธ ไม่ให้เติบโตทางการเมืองมาแล้ว... แต่อาจ “ไม่ชัดเจน” ขนาดนี้เท่านั้น

หนังสือชื่อ “This Will Not Pass: Trump, Bidden, and the Battle for America’s Future” ของสองนักข่าวสายทำเนียบขาวของนิวยอร์กไทมส์ ชื่อ โจนาธาน มาร์ติน และอเล็กซานเดอร์ เบิร์นส์ (วางแผงวันที่ 3 พฤษภาคม 2022) บอกด้วยว่า เมื่อทราบเหตุผล คุณลัดดา ได้ “แลกวาจา” แบบดุเดือดกับประธานาธิบดีไบเดน ไปหนึ่งชุดด้วย...

และต่อไปนี้คือเรื่องราวเท่าที่สยามทาวน์ยูเอส ติดตามค้นจากหลายๆ แหล่ง มาเล่าสู่ให้พวกเราได้ฟังกัน...

อย่างที่เราทราบกัน ว่าทีมงานของไบเดน ได้พิจารณาเลือก ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับลงเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน โดยเป็นตัวเลือกที่อยู่เหนือ ส.ว.คามาล่า แฮร์ริส ด้วย

แต่ข้อมูลในหนังสือ This Will Not Passฯ บอกว่าไบเดน และนักกฎหมายในทีมของเขา มองต่างออกไป ด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “สถานที่เกิด” ของคุณลัดดา

คุณลัดดาเธอเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1968 มีคุณแม่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ชื่อว่าคุณละมัย สมพรไพลิน ส่วนคุณพ่อเป็นอเมริกันชื่อ แฟร็ค ดัคเวิร์ธ เป็นทหารนาวิกโยธินที่เคยร่วมรบในหลายสมรภูมิ รวมถึงสงครามเวียดนามด้วย

โดยประเด็นสถานที่เกิดและความเป็นลูกครึ่งของคุณลัดดานี้ ข้อมูลในหนังสือฯ บอกว่าทำให้ทีมทนายความของไบเดนกลัวว่าจะเป็น “จุดอ่อน” ในประเด็นที่หนังสือฯ เรียกว่า birther claims ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีได้ง่าย

คำว่า birther เป็นศัพท์การเมือง หมายถึงกลุ่มคนที่มีความเชื่อ (ที่ไม่ถูกต้อง) เกี่ยวกับคุณสมบัติเรื่องสถานที่เกิดของนักการเมือง หรือบุคคลที่กำลังหาเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสูงๆ ของอเมริกา ซึ่งทรัมป์ ใช้เป็นอาวุธในการ “ดีสเครดิต” อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า เป็นคนแรกเมื่อปี 2011 จากนั้นเมื่อลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เมื่อปี 2016 ก็เอามาใช้กับ ส.ว.เท็ด ครูซ ที่สมัครแข่งกับเขา ว่าไม่มีสิทธิ เพราะเกิดที่แคนาดา กับแม่ที่เป็นอเมริกันและพ่อเป็นคิวบัน

คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเกมสกปรกทางการเมืองกิ๊กก๊อกของทรัมป์ แต่หากสนใจการเมืองจริงๆ จะเห็นว่าประเด็นที่ทรัมป์ “ปล่อยของ” ใส่โอบาม่านั้น ส่งผลให้กลุ่ม birther จำนวนมหาศาลออกมาเรียกร้องให้อดีตประธานาธิบดีแสดงหลักฐานถิ่นเกิด, ลาออก ต่อยอดถึงการเรียกร้องให้แก้ไข หรือตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เล่นเอาท่านโอบาม่าเสียเวลาทำงานไปโข

หนังสือฯ บอกด้วยว่าเทคนิคการกุเรื่องของทรัมป์แบบนี้แหละ ที่ทำให้ทรัมป์กลายเป็นฮีโร่คนดังของพวกขวาจัดขี้ระแวง (the paranoid right) ซึ่งมีค่อนประเทศ ให้ยอมออกมาเป็นฐานเสียง เป็นกำลังสำคัญของทรัมป์ในการเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ จนชนะการเลือกตั้ง และก่อความวุ่นวายให้อเมริกาและโลกนานถึงสี่ปี

ในหนังสือฯ เขียนเอาไว้ว่า “ไบเดนบอกถึงความกังวลใจของเขากับดัคเวิร์ธแบบระมัดระวัง แต่ดัคเวิร์ธโต้กลับใส่ทีมของไบเดนอย่างรุนแรง (pushed back hard) เธอเตือนความจำพวกนั้นว่าเธอถูกโจมตีด้วยถ้อยคำเหยียดผิวและชังเชื้อชาติมาแล้วขณะหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา และเธอเป็นฝ่ายชนะ”

“ฉันเอาชนะพวกสารเลวที่ตามเล่นงานฉันด้วยเรื่องนั้นได้ทุกคน” คุณลัดดาประกาศชัด

คำว่า “สารเลว” ที่สยามทาวน์ฯ เอามาใช้นี้ แปล (ด้วยกูเกิล) จากคำว่าว่า assh-le ที่คุณลัดดาใช้ตอกใส่ท่านไบเดนและทีมทนายความของเขา...

อนุญาตให้อ้าปากค้างได้หนึ่งนาที...

สองนักข่าวสายการเมืองของนิวยอร์กไทมส์ บอกไว้ในหนังสือ This Will Not Passฯ ด้วยว่า ท่านไบเดนมีท่าทีอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด ที่ต้องบอกบอกคุณลัดดาแบบนั้น เพราะมันคือการยอมรับว่า ทีมงานหาเสียงของเขาใช้วิธีที่เรียกว่า preemptive surrender หรือรีบตาลีตาเหลือกกำจัดสิ่งที่เห็นว่าอาจจะเป็นจุดอ่อนตั้งแต่ยังไม่ทันลงสนาม เหมือนยอมแพ้กับกลยุทธการเมืองสกปรกของทรัมป์ ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือต่อสู้

และสิ่งที่คุณลัดดาบอกกับท่านไบเดน ว่าเธอ “เอาชนะพวกสารเลวฯ” นั้นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะหากย้อนหลับไปอ่านข่าวเกี่ยวกับคุณลัดดา ซึ่งมีมากมายหลายสิบข่าวบนเว็บไซต์ของสยามทาวน์ฯ จะเห็นว่าเธอเคยถูก ส.ว.มาร์ค เคิร์ค คู่แข่งจากรีพับลิกันในสนามเลือกต้ัง ส.ว.อิลลินอยส์ เมื่อปี 2016 เล่นงานในประเด็น “แม่ไทย” มาแล้ว

โดยเรื่องเกิดบนเวทีดีเบท ในเดือนตุลาคม หลังจากคุณลัดดาเธอบอกว่าตระกูลฝั่งพ่อของเธอ รับใช้ชาติโดยการเป็นทหารมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติอเมริกา (the American Revolution) และถูก ส.ว.เคิร์ค โต้กลับแบบยียวนว่า “ผมลืมไปว่าครอบครัวคุณ เดินทางไกลจากไทยแลนด์ เพื่อรับใช้จอร์จ วอชิงตัน”

แน่นอนว่าคำพูดเหยียดเชื้อชาติของส.ว.รีพับลิกันแบบนี้ ทำให้เขาต้องแจ้นออกมาทวิตขอโทษคุณลัดดาในภายหลังว่า “ขอโทษอย่างจริงใจมายังอเมริกันฮีโร่, แทมมี่ ดัคเวิร์ธ และขอบคุณการทำงานเพื่อชาติของครอบครัวของเธอด้วย”

แต่คำขอโทษดังกล่าวไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะคุณลัดดาชนะการเลือกตั้งแบบทิ้งห่าง ส่วนคุณมาร์ค เคิร์ค ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 58 ปี ก็ “รีไทร์” จากวงการเมืองไปเลย

กลับมาที่กลยุทธดีสเครดิตคู่แข่งทางการเมืองที่เรียกว่า birther อีกสักหน่อย เพราะเท่าที่ค้นเจอนั้น พบว่ามีการเอามาใช้ตั้งแต่เกือบ 60 ปีก่อนโน้น โดยคนแรกที่โดน (เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้) คือ ส.ว.แบร์รี่ โกลด์วอเตอร์ ซึ่งลงสมัครเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1964 ถูกเล่นงานเพราะท่านเกิดที่อริโซน่าเมื่อปี 1909 หรือสามปีก่อนอริโซน่าจะรวมเป็นสหรัฐฯ ถัดมาคือ จอร์จ รอมนีย์ (พ่อของ มิทท์ รอมนีย์) ซึ่งสมัครเป็นประธานาธิบดีในปี 1968 ถูกเล่นงานว่าเกิดในประเทศแม็กซิโก (พ่อแม่เป็นอเมริกัน) ต่อด้วย ส.ว.จอห์น แม็คเคน วีรบุรุษสงครามผู้ล่วงลับ ซึ่งสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสองครั้ง คือปี 2000 และ 2008 ก็ถูกคู่แข่งชูประเด็นว่าเกิดในค่ายทหารที่ตั้งอยู่ในคลองปานามา

การเป็นลูกครึ่งไทย และเกิดในประเทศไทยของคุณลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ นั้น แม้กระทั่ง “คนไทยสายทรัมป์” ก็เคยตั้งข้อสงสัยแบบแรงๆ ในความเห็นท้ายข่าวของสยามทาวน์ฯ หรือบนเฟสบุ๊กของสยามทาวน์ฯ บ่อยๆ ว่า ไม่ควรที่เธอจะได้สิทธิเป็น “รันนิ่งเมท” ของไบเดน

ว่ากันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของสหรัฐฯ ในหมวด 2 มาตรา 1 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า No person except a natural born Citizen, or a Citizen of the United States, at the time of the Adoption of this Constitution, shall be eligible to the Office of President;

แปลได้ว่า “ผู้มีสิทธิเป็นประธานาธิบดี จะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ โดยกำเนิด หรือเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ในขณะที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”

คำว่า “พลเมืองของสหรัฐฯ โดยกำเนิด” นี้ แม้ว่าในกฎหมายที่เขียนไว้เมื่อกว่า 230 ปีที่แล้ว จะไม่ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ แต่เป็นคำที่มีการตีความกันขนานใหญ่กันครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดเมื่อปี 2011 ช่วงที่ทรัมป์เปิดศึก “birther” กับประธานาธิบดีโอบาม่า โดยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายดาหน้าออกมาให้คำนิยามเหมือนเช่นทุกครั้งว่า หมายถึง “บุคคลผู้ที่มีพ่อ หรือแม่ถือสัญชาติอเมริกัน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม”

ที่ถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดคือบทความของสองนักกฎหมาย ชื่อ พอล เคลเมนท์ และ นีล แคทยัล (Paul Clement and Neal Katyal) ในวารสาร Harvard Law Review เมื่อปี 2015 บอกว่าการพยายามตีความคำว่า “การได้สัญชาติโดยกำเนิด” เป็นการทุ่มเทในเรื่องไร้สาระ (much ado about nothing)

“บุคคลที่เกิดในครอบครัวชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะในแคลิฟอร์เนียหรือแคนาดา หรือในคลอง (canal zone อ้างถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับวุฒิสมาชิก จอห์น แม็คเคน) คือพลเมืองสหรัฐฯ โดยกำเนิด และมีสิทธิ์อย่างชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากได้รับการเลือกจากประชาชน”

หมายถึงว่าคุณลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผู้นำอันดับสอง ที่จะต้องขยับขึ้นมาเป็น “เบอร์หนึ่ง” ทันทีหากเกิดกรณีใดๆ ที่ประธานาธิบดีไม่สามารถทำหน้าที่ได้

แต่อย่างที่ทราบกัน สุดท้ายแล้วไบเดนได้ตัดสินใจเลือกวุฒิสมาชิก คาเมล่า แฮร์ริส เป็นวีพี แม้ว่าในช่วงหาเสียง (โดยเฉพาะบนเวทีดีเบท) ไบเดน จะเคยถูกคุณแฮร์ริส เล่นงาน (ในประเด็นสีผิว) จนเหวอะหวะก็ตาม... ซึ่งบรรดานักวิจารณ์การเมืองบอกว่า การยอม “กลืนเลือด” ของไบเดนครั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นลูกผู้ชาย หรือการยอมทิ้งความแค้นส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ กลายเป็น “ผลบวก” ให้กับภาพพจน์ของไบเดน ไป

ต้องหมายเหตุตรงนี้หน่อยนึงว่า การที่ไบเดน เลือกคุณคาเมล่า แฮร์ริส เป็นรันนิ่งเมท ก็ไม่ใช่ว่าจะรอดพ้นจากการโจมตีของพวกลัทธิ birther ของรีพับลิกัน เพราะอย่าลืมว่าคุณแฮร์ริส มีคุณแม่เป็นคนอินเดีย และคุณพ่อเป็นชาวจาไมก้า แต่โชคดีที่ทั้งสองให้กำเนิดคุณแฮร์ริส ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากได้สัญชาติอเมริกันแล้ว การพยายามชูประเด็นถิ่นเกิดใส่คุณแฮร์ริส จึงไม่มีเสียงตอบรับมากนัก

ประเด็นที่เกี่ยวกับคุณลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ ตามที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ This Will Not Pass: Trump, Bidden, and the Battle for America’s Future นี้ จนถึงวันนี้ ยังไม่ท่าทีตอบรับใดๆ ออกมาจากคุณลัดดา หรือจากประธานาธิบดีไบเดน...

แต่แน่นอน สำหรับบรรดาแฟนๆ ของคุณลัดดา โดยเฉพาะในรัฐอิลลินอยส์นั้น ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสเรียกร้องและสนับสนุนให้คุณลัดดา เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2024 แทนท่านไบเดน ด้วยเหตุผล (ที่เห็นชัดๆ) อย่างน้อยสองประเด็น หนึ่งคือท่านไบเดน จะอายุครบ 82 ปีในปีเลือกตั้งครั้งหน้า และสองคือคะแนนนิยมของท่านกำลังดำดิ่งจนถือเป็นเรื่องน่าห่วง โดยเฉพาะหากการเลือกตั้งปี 2024 นั้น พรรครีพับลิกันเลือกตัวแทนชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ มาลงสนามอีกหน

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ จึงเป็นเรื่องที่พวกเราคนไทย จะต้องให้ความสนใจกันต่อไป....

ดูคลิป : เผยไบเดนไม่เลือก "ลัดดา" เป็นวีดีเพราะ "แม่ไทย"


ส.ว.ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิรธ




หนังสือ This Will Not Pass: Trump, Bidden, and the Battle for America’s Future




สนับสนุนข่าวโดย

ส่งของจากไทยไปอเมริกา Pack at Post ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขนส่งที่ครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกท่าน ไว้วางใจใช้บริการกับทาง Pack at post ได้เลย ส่งของทางเครื่องบิน ราคาเริ่มต้น 360 บาท/กก  ส่งของทางเรือราคาเริ่มต้น น้ำหนัก 300.1 กก. ขึ้นไป = 162 บาท/กก สอบถามรายละเอียดได้ที่  Line:@packatpost 



 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2024 จับ (ซะที) สามโจรทุบร้านไทยและ ฯลฯ กว่า 130 แห่งในแคลิฟอร์เนีย (0/35)   
23-04-2024 เตรียมปรับผังแอลเอเอ็กซ์ครั้งใหญ่ รับ “บอลโลก-โอลิมปิก (0/61) 
22-04-2024 จับโจร “งัดแมนชั่น” นายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ (0/157) 
19-04-2024 เอาให้ชัด! ฟาสต์ฟู้ดแคลิฟอร์เนียแพงขึ้นเท่าไหร่ หลังปรับค่าแรง 20 เหรียญ (0/245) 
17-04-2024 รายได้เท่าไหร่ ถึงจะอยู่แบบ “สบายๆ” ในแคลิฟอร์เนีย (0/262) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข