Chor hok (ช.ฮก) ปลาร้าทอดรสแซบของสาวไซส์มินิ
จากความชอบ สู่ความมุ่งมั่นลองผิดลองถูก ปลาร้าทอดในบ้านจึงกลายเป็นปลาร้าทอด ช.ฮก สูตรเฉพาะของ ฮารุ สุประกอบ (ยามากูชิ) ที่สร้างรายได้และธุรกิจที่กำลังโตวันโตคืน เพราะแม้จะเพิ่งเปิดร้านผ่านอินสตาแกรมได้เพียงปีเศษ แต่ยอดผู้ติดตามกลับพุ่งสูงกว่าหมื่นคนแล้ว!
“ในช่วงที่ท้อง ฮารุชอบกินปลาร้าทอดมาก แต่เพราะอยากกินบ่อย เลยลองทำกินเอง ฮารุคิดสูตรเอง หมักเอง ทอดเอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนในที่สุดก็ได้ปลาร้าทอดรสชาติตามที่ต้องการ แต่เพราะสนุกกับการทำไปหน่อยเลยทำเยอะเกินไปจึงแบ่งให้เพื่อนๆ ลองชิม หลายคนติดใจก็บอกให้ทำขาย ตอนแรกยังกังวลอยู่ว่าจะขายได้ไหม แต่ด้วยความอยากรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจลองทำขายดู ปรากฏว่าขายดีมาก”
ช่วงแรกของการขายปลาร้าทอด ช.ฮก นั้น ฮารุเล่าให้ฟังว่า ใน 1 วันขายได้เพียง 2 ถุงก็ดีใจแล้ว เพราะไม่คิดจะทำเป็นธุรกิจตั้งแต่แรกจึงไม่คาดหวังว่ามันจะขายได้มากหรือน้อย แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ในช่วงระยะเวลาปีกว่า ปลาร้าทอด ช.ฮก มีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบางวันสูงถึง 1,000 ถุงเลยทีเดียว
“อาจเพราะเป็นดารา ช.ฮก จึงเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับเราส่งปลาร้าทอดไปให้เพื่อนๆ นักแสดงชิม เพื่อนก็ถ่ายรูปอัพลงอินสตาแกรมแล้วแท็กมาที่อินสตาแกรมของทางร้าน จึงมีกลุ่มคนที่ติดตามพวกเขาตามมาติดตามอินสตาแกรมของเราด้วย แต่ความเป็นดาราก็ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจจะอยู่ได้ถาวร หากแต่เป็นเรื่องของคุณภาพและการบริการมากกว่าที่สามารถซื้อใจลูกค้าได้ ซึ่ง ช.ฮก นั้น เราหมักเอง ทอดเอง และรับประทานเองด้วย จึงใส่ใจในเรื่องคุณภาพอย่างมาก อย่างการทอดปลาร้า เราจะทอด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกทอดเพื่อให้ปลาร้าสุกและทอดครั้งที่สองเพื่อไล่น้ำมันเก่าออก จึงทำให้ปลาร้าทอดของเราไม่เหม็นหืนน้ำมัน อีกทั้งราคาก็สามารถจับต้องได้ ไม่สูงจนเกินไป”
ไม่เพียงวัตถุดิบและขั้นตอนในการทำปลาร้าทอดเท่านั้นที่ฮารุให้ความสำคัญ หากแต่เรื่องแพ็กเกจจิ้งก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะปลาร้าทอดค่อนข้างแตกหักง่าย ขณะเดียวกันการทำธุรกิจออนไลน์ที่เน้นการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับการขนส่งที่อาจทำให้สินค้าเสียหายได้ ดังนั้น ฮารุจึงลงทุนกับการเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งที่จะช่วยลดการแตกหักของสินค้าได้
“ในช่วงแรกเราใช้ถุงที่ค่อนข้างบาง จึงทำให้สินค้าง่ายต่อการแตกหัก และเมื่อลูกค้าเจอปลาร้าทอดที่แตกหักจนป่น พวกเขาก็ส่งสินค้ากลับคืน ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนมาใช้ถุงที่หนาขึ้น ซึ่งช่วยกันกระแทกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกค้าที่ค่อนข้างล่าช้า เพราะทุกๆ วันมีลูกค้าติดต่อเข้ามาเยอะมาก เราไล่ตอบไลน์ทุกวันจากล่างขึ้นบน แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ครบทุกคน และแม้จะเหนื่อยกับการคอยอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า เหตุใดเราจึงตอบไลน์ช้า เราก็ต้องยอมเหนื่อยเพราะนี่คือการบริการอีกอย่างหนึ่ง”
ขณะนี้ ช.ฮก มีทั้งลูกค้าที่สั่งซื้อแบบไม่กี่ถุงเพื่อรับประทานเอง ไปจนถึงลูกค้าที่สั่งซื้อจำนวนร้อยกว่าถุง เพื่อนำไปวางขายต่อ ซึ่งเป็นอีกทางที่ทำให้ ช.ฮก กระจายสู่ผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น
“การที่ลูกค้ารับปลาร้าทอดจากเราไปขายต่อก็เหมือนเรามีหน้าร้านโดยที่เราไม่ต้องลงทุนเปิดหน้าร้านเอง ซึ่งเราจะให้อิสระกับลูกค้าในเรื่องการตั้งราคา คือ พวกเขาสามารถตั้งราคาสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาที่ซื้อจากเราได้ แต่เราจะแนะนำเรื่องความเหมาะสมของการตั้งราคา เช่น หากซื้อปลาร้าทอดจากเราในราคาถุงละ 150 บาท แต่นำไปขายต่อในราคา 160 บาท คนก็ยังยินดีควักเงินซื้อ เพราะซื้อจากเขาแล้วได้ของเลย ไม่ต้องรอคิวเหมือนซื้อกับเรา แต่หากเขาขายในราคาถุงละ 190 บาทก็คงไม่มีใครซื้อแน่ เพราะราคาสูงเกินไป นอกจากนี้ เรายังแนะนำด้วยว่าปลาร้าทอด ช.ฮก สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้อีก ด้วยการนำไปประกอบอาหาร เช่น สปาเกตตีขี้เมาปลาร้าทอดและสลัดราดปลาร้าทอด เป็นต้น”
ปลาร้าทอดเป็นสินค้าประเภทซื้อซ้ำ เมื่อรับประทานหมดแล้วก็สามารถสั่งซื้อใหม่ได้ ดังนั้น ช.ฮก จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ยิ่งหากสามารถนำเข้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นได้ ช.ฮก ก็จะยิ่งมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนี่คือแผนในอนาคตที่ฮารุวางไว้ และเมื่อถึงตอนนั้น ช.ฮก จะมีหลากหลายรสชาติ เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอย่างแน่นอน
(เครดิต สนุกดอทคอม)
นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส