ส่วนอาตมานั้น เมื่อเริ่มเข้าเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว ยังเรียนเปรียญธรรม 8 ประโยคควบคู่ไปด้วย ระยะแรกยังพอมีความกระตือรือร้นพอสมควร ได้ทราบว่า อาจารย์ที่ไหนสอนดีก็พยายามกระเสือกระสนไปหาอาจารย์ท่านนั้น ไม่เลือกว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เพื่อขอเรียนพิเศษ โดยเฉพาะวิชาฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาที่หินที่สุด หรือวิชาดับเซียน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่แตกฉาน ไม่รู้แจ้งแทงตลอด ทำการบ้านส่งอาจารย์กี่ครั้งๆ ยังไม่มีคะแนน หน้ากระดาษที่ตรวจงานมีแต่สีแดงเถือก พยายามแล้วพยายามอีกสุดความสามารถ ก็สอบไม่ผ่าน
แม้จะสอบตกในปีแรก ปีต่อมาก็ยังไม่ละความพยายาม ยังคงหาเวลาเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยจะมีเวลาเรียนกับครูอาจารย์ พยายามเรียนด้วยตัวเอง เมื่อเข้าสนามสอบ ผลออกมาสอบตกอีกเป็นครั้งที่สอง การสอบตกแต่ละครั้ง ลดความมั่นใจ ความกระตือรือร้นและแรงบันดาลใจลงไปทุกครั้ง จนกระทั่งสอบอีกจนครบสามครั้ง ยังคงสอบตกเหมือนเดิม
เมื่อสอบตกถึงสามครั้ง จึงลงความเห็นว่า ถึงเวลาที่ชีวิตต้องเปลี่ยนทาง เพราะเมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วพบว่า ศาสนกิจที่ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คืองานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จิตใจและเวลาส่วนใหญ่ทุ่มลงไปกับงานเผยแผ่ ใครนิมนต์ไปแสดงธรรมที่สถาบันการศึกษาใดๆ หรือสถานที่ใดๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลต้องไปให้ถึง
อาตมาก็ไม่ขอแก้ตัวว่าอะไรคือสาเหตุแห่งการสอบตกติดต่อกันถึงสามครั้ง แต่สัจธรรมมีว่า ผลทุกอย่างล้วนมาจากเหตุ หรือสำนวนบาลีว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด หากจะสรุปสาเหตุสำคัญของการสอบตก คือเรียนไม่เต็มที่ ทุ่มเทความสนใจและเวลาไปในสามกิจกรรมหลักคือ
ประเด็นที่ 1 เวลาถูกแบ่งไปเรียนปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งต้องเรียนในห้องและทำรายงานอย่างหนักไม่น้อยกว่าการเรียนบาลี ประกอบกับวิชาที่เรียนเพิ่มขึ้นหลายวิชา ซึ่งต้องทุ่มเทความสนใจไปทุกวิชา ไม่น้อยไปกว่ากัน
ประเด็นที่ 2 กิจกรรมต่อมาเมื่อเข้าเรียนมหาจุฬาฯ ชอบอาสาไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งที่เป็นครั้งคราวและสอนเป็นประจำ เช่นสอนประจำที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี สอนแทบจะทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเพล เมื่อฉันเพลที่โรงเรียนเสร็จ นั่งรถเมล์สาย 70 หน้าโรงเรียนไปลงที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเดินต่อไปยังวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ บางวันก็เหนื่อย นั่งหลับในรถรวดเดียวจากหน้าโรงเรียนมาตื่นที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทีเดียว
ประเด็นที่ 3 คือ สนใจกิจกรรมเสริมเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยการประชุมสัมมนากับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลังเลิกเรียนแล้ว ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ บางวันกว่าจะเดินทางจากวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์กลับถึงวัดชลประทานรังสฤษฎิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เที่ยงคืนหรือ ตี 1 ของวันใหม่
ถ้าจะเรียกภาษาวัยรุ่นก็เรียกว่า พอได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ใจแตก เข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรมที่ขวางหน้า แม้แต่การเรียนที่มหาจุฬาฯ ก็เริ่มถดถอย เกรด A หลายตัวเริ่มหดหายไปจากใบบอกผลคะแนน (Transcript) การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลรับรองปริญญาบัตรของนักศึกษา ก็ร่วมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จัดการประชุมสัมมนาหาทางส่งเสียงให้รัฐบาลทุกช่องทางที่รัฐบาลจะได้ยิน รับรู้และรับทราบ
พวกเรานักศึกษา เคยเชิญคุณอุทัย พิมใจชน สมัยคำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภามาแสดงปาฐกถาและฝากเรื่องให้รัฐสภาผ่านกฎหมายรับรองวุฒิการศึกษาเสียที เคยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ มาปาฐกถา เชิญคุณประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี มาในงานอนุสรณ์ของมหาวิทยาลัย แล้วยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อให้ท่านทราบว่า มหาวิทยาลัยตั้งมาหลายสิบปี เปิดทำการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ผลิตพุทธศาสตร์บัณฑิตออกไปช่วยงานชาติและศาสนาจำนวนมาก แต่รัฐบาลยังไม่รับรองวิทยฐานะ จึงเรียกกันเล่นๆ ในหมู่นักศึกษาว่า จบปริญญาเถื่อน จากมหาวิทยาลัยเถื่อน
ในความเห็นส่วนตัว การเรียนบาลี ต้องเรียนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จิตใจจดจ่อเฉพาะอยู่กับเรื่องบาลี ต้องรักการเรียนบาลีอย่างสุดจิตสุดใจ มีความพากเพียรอย่างยิ่ง ถ้าเรียนๆ หยุดๆ ไม่จริงจัง ย่อมไม่มีทางประสบผลสำเร็จ ต้องไตร่ตรองพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ละเอียดละออในทุกขั้นตอน ต้องใช้สติระดับมหาสติในการเรียน โดยเฉพาะการสอบ ถ้าสะเพร่าประมาทเลินเล่อเผลอเรอผิดพลาดไปเพียงสองสามประเด็น จะสอบตกทันที
ที่เขียนมา ดูเหมือนว่าจะเข้าข่ายหาข้อแก้ตัวมาลบล้างผลการสอบตกของตนมากกว่าเหตุผลอื่น เพราะนิสิตนักศึกษาพระสงฆ์ที่เรียนเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย ทำกิจกรรมสอนนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ด้วย เรียนบาลีด้วย สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคพร้อมกับจบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยล้วนมีมากมายเหมือนกัน
เส้นทางสายบาลีที่เดินมาถึง 12 ปีไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าความฝันที่จะเป็นนาคหลวง หรือสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ตามที่เคยหวัง แต่ปรากฏว่า ยิ่งเรียนยิ่งห่างจากฝั่งฝันไกลออกไป ไกลออกไป เมื่อสอบเปรียญธรรม 8 ประโยคตกครบสามครั้ง จึงอำลาเวทีการศึกษาบาลีอย่างไม่มีกำหนด หลายครั้ง มีกองเชียร์กองหนุนอยากให้คืนสู่เวที เดินไปสู่ฝั่นฝันต่อ แต่พลังแห่งอิทธิบาท 4 ยังไม่มีเพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้ลงสู่สนามเพื่อต่อสู่อีกครั้ง เป็นอันว่าเส้นทางสายการเรียนบาลีก็จบลงแค่เปรียญธรรม 7 ประโยคเท่านั้น
แม้การเรียนบาลีของตนเองยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่หัวใจยังรักภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะมาก ที่ไหนมีการเรียนการสอนบาลีก็มักจะสนับสนุนตามเหตุปัจจัยอย่างเต็มสติกำลัง และเคารพนับถือ พลังธรรม คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญาของทั้งผู้สอน ผู้เรียนและผู้สอบเปรียญ 9 ประโยคได้ทุกท่าน คงจะต้องกล่าว่า แม้จะลงเวทีไปแล้ว แต่ยังคงเป็นกองเชียร์อย่างข้างเวทีไปเคยหนีจากไปเลย
การเขียนชุดบันทึกไว้ในสมัยเรียนบาลีก็จบลงเพียงแค่นี้ หวังว่า ท่านผู้อ่านคงจะได้สัมผัสความสมหวัง ความผิดหวัง หัวเราะร้องไห้ ล้มเหลว สำเร็จ จากเรื่องนี้อย่างครบถ้วน คนส่วนใหญ่จะเลือกบันทึกเฉพาะความสำเร็จ แต่เรื่องนี้จบลงด้วยความล้มเหลว การเรียนรู้ถึงความล้มเหลวก็เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่ง เพราะความล้มเหลวมีอยู่จริงในทุกกิจกรรม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะสำเร็จ หรือ ล้มเหลวในโลกสมมติ แต่การปฏิบัติธรรมได้เกิดขึ้นแล้วในทุกขั้นตอนและทุกก้าวย่างที่เดินทางผ่านไป
วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 8.20 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย
สหรัฐอเมริกา