คำที่ใช้เรียกอาการโกรธ มีหลายคำ เช่น
1 ปฏิฆะ เป็นความโกรธที่แสดงออกน้อยที่สุด เช่น ไม่พอใจอะไรก็หงุดหงิดนิดๆหน่อยแล้วจะเพิ่มหรือจะลด จะดับไปหรือจะเกิดต่อไปขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและการฝึกฝนอบรม
2 โกธะ ความโกรธ อาการของความโกรธ จะแสดงออกมาเมื่อรู้สึกมีอะไรมากระทบใจ หรือ แทงเข้าไปในใจอย่างแรง เช่น ต้องพบกับศัตรู หรือคนที่ไม่ชอบหน้าอย่างแรง จะแสดงความโกรธออกมา
3 โทสะ อาการดิ้นรนอยากจะทำลายล้าง บุคคลหรือ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เกลียดชังนั้นทิ้งไป เช่น เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ประชาชนอเมริกาที่ไม่ชอบคุณ ทรัมป์ เมื่อทราบผลการเลือกตั้งว่าเขาชนะคู่ต่อสู้ได้เป็นประธานาธิบดีแน่นอนแล้ว คนที่เกลียดชังเขาพากันทุบตีโทรทัศน์ที่กำลังถ่ายทอดสดการขอบคุณประชาชนของเขาพังไปหลายเครื่อง นี่คือ อาการโทสะ แปลว่า ประทุษร้าย หรือทำลาย ได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ตรงนี้จะเห็นได้ชัดเวลาที่คนทะเลาะกันแล้วทุบตีจนได้รับบาดเจ็บหรือฆ่ากันตาย เนื่องจากบันดาลโทสะแล้วเผลอใจติดตามความรู้สึกนั้นไปอย่างไม่รู้สึกตัว บางคนฆ่าคนอื่นตายไปแล้ว จึงรู้สึกตัวภายหลัง นั่นก็หมายความว่า โทสะ นี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วดับไป แต่ถ้าใครปล่อยกายปล่อยวาจาและใจไปตามโทสะ ผลออกมามักลงท้ายกลายเป็นฆาตกร โทสะเปลี่ยนชีวิตคนมานับไม่ถ้วน หากไม่รู้เท่าทัน โทสะนี้จะทำลายชีวิตและความดีของมนุษย์เรื่อยไป
4 พยาบาท บางทีเมื่อทำร้ายต่อหน้าไม่สำเร็จขณะเกิดโทสะ แต่โทสะยังไม่ระงับเพราะย้ำคิดเรื่องนั้นอยู่ไม่ขาด เป็นความแค้นที่ฝังลึก ปรารถนาให้ศัตรู หรือ คนที่เกลียดชังนั้นได้พบกับความวิบัติดั่งภาษติจากหนังจีนกำลังภายในกล่าวไว้ว่า ลูกผู้ชาย 20 ปีแก้แค้นยังไม่สาย แต่ความจริงความแค้นนี้มิได้จำกัดเฉพาะกับลูกผู้ชาย ลูกผู้หญิงก็มีเหมือนกัน หนังจีนกำลังภายในจึงมีทั้งจอมยุทธหญิงและจอมยุทธชายที่ท่องไปในยุทธจักร เพื่อสังหารศัตรูที่เคยฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ หรือผู้มีพระคุณ
5 อาฆาต และจองเวร อาการทั้ง 2 ประการนี้ ลึกล้ำรุนแรงมากกว่า พยาบาท เพราะความแค้นที่ฝังแล้วไม่มีการถอดถอนจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง หากอ่านในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า นิทานธรรมบท การจองเวรนี้ คู่เวรกันจะตามล้างตามล่ากันข้ามพบข้ามชาติจนกว่าเวรนั้นจะระงับ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในกาลไหนๆ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวรเลย
ความโกรธ คือ ไฟร้อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า โทสัคคิ แปลว่า ไฟ คือ โทสะ เมื่อใดใครก็ตามดับไฟ 3 กองคือ ราคะไฟเย็น โทสะไฟร้อน และโมหะความมืดเสียได้จะเข้าถึงความเย็นเป็นอนันตกาลที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งแปลว่า เย็น ได้แก่ความเย็นที่ปรากฏหลังจากความร้อนสิ้นไป
โทษของความโกรธ มีมากมาย ตั้งแต่ทำลายความสงบสุขในใจของผู้โกรธ ลามออกมาทำลายมิตรภาพกับคนใกล้เคียง ทำร้ายคนที่อยู่ใกล้เคียงเช่นบางคนหรือบางครอบครัวพ่อบ้าน แม่บ้านใจร้อนก็ทุบตีลูกหลานในบ้านจนหวาดผวาหาความสงบสุขมิได้ ถ้าผู้นำเป็นคนขี้โกรธจะอันตรายต่อประชาชนที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำที่ขี้โกรธนั้น เพราะเมื่อความโกรธครอบงำอาจจะใช้กฎหมายทำลายคนที่ทำให้โกรธอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้ บุคคลิกภาพของคนโกรธก็ไม่ดี โกรธที่ไหนก็น่าเกลียดที่นั้น
พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธภาษิตที่พุทธบริษัททุกคนจำกันจนขึ้นใจว่า ฆ่าความโกรธเสียได้เป็นสุข นั่นหมายความว่า ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร อย่าปล่อยให้ความโกรธลอยนวล จงฆ่าทิ้งทันที แต่จะต้องตระหนักไว้ว่า อย่าไปฆ่าคนที่ทำให้โกรธเด็ดขาด จงฆ่าเฉพาะความโกรธที่เกิดขึ้นภายใน หรือ หากฆ่าทิ้งไปไม่ได้ ก็ต้องสำรวมระวังกันต่อไป ต้องติดตามระวังรักษาใจอย่างใกล้ชิด หากเกิดขึ้นก็กำหนดขอบเขตอย่าให้แสดงฤทธิ์เดชออกมา
หากจะแก้ไขความโกรธตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เริ่มต้นด้วย พิจารณาเห็นโทษของความโกรธว่า เมื่อเราโกรธ เรากำลังติดอยู่ในกองไฟที่กำลังลุกโชน ความโกรธไม่มีประโยชน์อะไร จะต้องรีบออกไปเสียจากความโกรธให้เร็วที่สุด เหมือนคนหนีไฟ จะต้องรีบหนีออกไปจากไฟให้เร็วที่สุด ไม่ต้องหยิบฉวยหรือคว้าอะไรติดตัวไป เอาตัวให้รอดเป็นพอ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ต้องมีสติมาทันทีว่า ไฟไหม้ใจแล้ว ถ้าจะทำอะไรต่อไปคงไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น คนโบราณสอนว่าให้เริ่มนับ 1 ถึง 10 แล้วนับไปเรื่อยๆจนความโกรธผ่อนคลายและหายไปในที่สุด ผู้ที่เคยเจริญสติมาแล้ว เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ก็กำหนดพิจารณาไปยังความโกรธโดยตรง ไม่ต้องไปโทษคนที่ทำให้โกรธ หากทำบ่อยๆ ความโกรธจะได้รับการควบคุมไม่เป็นอันตรายทั้งตนเองและผู้อื่น
แม้เป็นการยากเย็นที่จะไม่ให้คิดถึงคนที่ทำให้โกรธ แต่จงคิดถึงเขาด้วยความเมตตาต้องยุติ โทสะ อาฆาต พยาบาท และจองเวรให้เร็วที่สุด ด้วยการแผ่เมตตาว่า คนที่ทำให้โกรธนั้น เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตาย เหมือนกับเรา ไม่จำเป็นต้องไปด่า ไปประณาม หรือ ไปฆ่าเขา เขาคงมีชีวิตอีกไม่เกิน 100 ปีเขาก็อาจจะตายแล้ว การที่เขาด่า หรือ ทำให้เราโกรธ เขาคงเป็นทุกข์ใจที่ต้องการระบายออกมา แล้วก็อภัยให้กัน หากอภัยแล้วยังไม่รู้สึกว่า ความโกรธนั้นหายไปอย่างสนิทใจ ก็พยายามอยู่ห่างๆกันเข้าไว้ เพื่อปล่อยให้ไฟที่เผาใจค่อยๆมอดดับลงตามกาลเวลาและตามพระบัญชา แห่งพระอนิจจัง พระทุกขังและพระอนัตตา ตระหนักถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอว่า ผู้ใดจะระวังจิต ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร
ความโกรธเกิดขึ้นได้กับทุกคน ต้องตระหนักเสมอว่า ความโกรธ คือศัตรูต้องทำลายให้เร็วที่สุด ความโกรธ ทำลายความสุขส่วนตน ความสุขส่วนรวม ทำลายมิตรภาพ ทำลายอนาคต และทำลายอีกหลายอย่างนับไม่ถ้วน การสำรวมอินทรีย์ด้วยการมีสติทุกเมื่อ เป็นกุญแจที่สำคัญที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลม การแผ่เมตตาอย่างสม่ำเสมอ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญแก่จิตใจไม่ให้หวั่นไหวหลงไหลไปตามอำนาจความโกรธ ความโกรธ คือ ไฟเผาใจ ยุติความโกรธเด็ดขาดเมื่อไร เข้าถึงนิพพาน คือ ความเย็นใจเป็นนิรันดร์เมื่อนั้น
วันที่ 6 ตุลาคม 2562 เวลา 05.58 น.
วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา