สถานีข่าว เคเอบีซี ของแอลเอ รายงานข่าวน่าสะเทือนใจเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2025 ถึงเรื่องราวของ คานฮี (Khanhi) หญิงอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม จากย่านลิตเติลไซง่อน ของออเรนจ์ เคาน์ตี้ ที่กำลังจะกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาววัยหนึ่งขวบ หลังสามีวัย 49 ปี ถูกกักตัวและถูกนำเข้าสู่กระบวนการเนรเทศโดยไอซ์
คานฮี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของ เคเอบีซี ที่สำนักงานขององค์กรเอ็นจีโอชื่อ เวียดไรซ์ (VietRISE) เมืองการ์เดนโกรฟ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกสาววัยทารกต้องร้องไห้ เพราะการนอนกอดพ่อกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
ทั้งนี้เพราะพ่อ หรือ “ดาด้า” ของหนูน้อยเอเวอลีน ถูกกักตัวโดยไอซ์ ที่ศูนย์กักกันเอเดลานโต้ ในซานเบิร์นนาดิโน่ เคาน์ตี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
คานฮีเล่าว่า เธอและสามี ซึ่งปัจจุบันอายุ 49 ปี ต่างถูกแม่อุ้มหนีลงเรือออกจากประเทศเวียดนามตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
“ตอนนั้น สามีฉันอายุประมาณห้าขวบ ส่วนฉันอายุประมาณหนึ่งขวบ ตอนที่แม่ตัดสินใจกระโดดขึ้นเรือในตอนกลางดึกเพื่อหนีตายมายังดินแดนใหม่” คานฮีกล่าว
เมื่อถึงอเมริกา คานฮี ได้รับสัญชาติอเมริกัน แต่สามีกลับถูกจัดเข้ากลุ่มที่เรียกว่า an order of supervision (OSUP) คืออนุญาตให้อยู่ในประเทศระหว่างรอปรับสถานภาพ ภายใต้การควบคุม โดยต้องเข้ารายงานตัว (check-in) กับไอซ์ ทุกปี
สิ่งที่เกิดกับสามีของ คานฮี นี้ ศูนย์กฎหมายเพื่อชาวเอเซีย (Asian Americans Advancing Justice หรือ AAAJ บอกว่ากำลังเกิดขึ้นกับชาวเวียดนามจำนวนมากที่ถูกนำตัวเข้ามาตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีผู้ปกครองคนเดียวหรือไม่มีเลย จึงอาจกรอกข้อมูลผิดพลาด กลายเป็นปัญหากับระบบตรวจคนเข้าเมือง และด้วยความไม่เข้าใจดังกล่าว ทำให้เด็กหรือผู้ปกครองหลายคนยอมเซ็นชื่อรับผิด (pleaded guilty) ยอมรับการเนรเทศ ทั้งที่ไม่เคยทำผิดใดๆ มาก่อนเลย
“สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากหลังการเซ็นชื่อยินยอมให้เนรเทศ หรือสมัครใจเนรเทศตัวเอง (voluntary departure) คือ พวกเขาถูกปล่อยออกมาจากศูนย์กักกัน เพราะว่าอเมริกาและเวียดนามมีข้อตกลงกันอยู่ ทำให้พวกเขาไม่เคยถูกเนรเทศ แต่ต้องมารายงานตัวกับไอซ์ทุกปี” เจ้าหน้าที่ของ AAAJ ระบุ
ข้อตกลงที่กล่าวถึง คือบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างสหรัฐฯ และเวียนาม ที่มีการลงนามในปี 2008 อนุญาตให้มีการเนรเทศผู้อพยพชาวเวียดนามบางกลุ่ม แต่ให้ความคุ้มครองผู้อพยพที่เข้าประเทศก่อนปี 1995 เท่ากับให้ความคุ้มครองชาวเวียดนามส่วนใหญ่ที่เข้ามาในสภาพ เรฟูจี คนกลุ่มนี้จึงสามารถเติบโต ร่ำเรียน ทำงาน และเริ่มสร้างครอบครัว ได้เหมือนคนทั่วไป
คานฮี ซึ่งทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ บอกว่าเธอได้ตกลงกับสามีว่าจะเป็นคนออกไปทำงานนอกบ้าน ให้สามีเป็นคนดูแลลูก
“ฉันทำงานเต็มเวลาในช่วงกลางวัน เขาจึงเป็นคนดูแลลูกตั้งแต่แรกเกิด โดยทำทุกอย่างตั้งแต่เปลี่ยนไดเปอร์ อยู่กับลูกทุกๆ ครั้งที่มีนัดกับหมอ ทุกๆ ครั้งที่ต้องฉีดวัคซีน ทุกๆ การร้องไห้ ทุกๆ การนอนหลับ ทุกๆ มื้ออาหาร เขาดูแลลูกตอนกลางวัน แล้วตอนกลางคืนกับช่วงวัยหยุดก็จะออกไปทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เขาทำทุกอย่างเพื่อเรา” คานฮี กล่าว
อย่างไรก็ตาม บันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม ได้ถูกยกเลิกในปี 2020 ทำให้ชาวเวียดนามในสหรัฐฯ จำนวนมากอยู่ในสภาพที่เสี่ยงอันตราย แต่ยังไม่เคยมีการเนรเทศผู้ใดมาก่อน กระทั่งหลังการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์
ศูนย์กฎหมาย AAJC ในออเรนจ์ เคาน์ตี้ บอกว่าได้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวเวียดนามที่ถูกกักตัวขณะเข้าไปรายงานตัวกับไอซ์ มากกว่า 20 รายในช่วงเดือนที่ผ่านมา ต่างกับตลอดปี 2024 ที่ไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเลย
สิ่งที่เกิดขึ้น ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับชุมชนเวียดนาม โดยเฉพาะในลิตเติลไซง่อน ซึ่งถือเป็นชุมชนเวียดนามที่ใหญ่สุดนอกประเทศ เห็นได้จากจำนวนโทรศัพท์สอบถาม ปรึกษา และขอความช่วยเหลือที่องค์กร เวียดไรซ์ ได้รับในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดย อินดิโก้ วู โปรแกรมเมเนเจอร์ ขององค์กรเวียดไรซ์ บอกว่าขณะนี้ ชุมชนกำลังเครียด กังวล และหวาดกลัวกับความไม่นอนที่เกิดขึ้น
คานฮิ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเวียดไรซ์ เช่นกัน บอกว่าเธอรู้สึกตกใจมากตอนได้รับโทรศัพท์จากสามี ที่ได้รับอนุญาตให้โทรออกมาจากสถานกักกัน และว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา เธอเครียดและเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะต้องดูแลทั้งครอบครัวตัวเอง, แม่ และแม่สามี ซึ่งอยู่ในสภาพตื่นตระหนกไม่แพ้กัน
คุณแม่เคราะห์ร้ายบอกด้วยว่า เธอมีโอกาสพาลูกสาววัยหนึ่งขวบไปเยี่ยมพ่อที่ศูนย์กักกันหนึ่งครั้ง แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด เพราะกฎของศูนย์กักกันห้ามไม่ให้มีการแตะต้องสัมผัสตัวกัน ดังนั้นเมื่อหนูน้อยถูกห้ามไม่ให้วิ่งเข้าไปกอดพ่อ จึงร้องโวยวาย เป็นเหตุให้เธอกับลูกถูกขอให้กลับออกมาทันที
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คานฮิบอกว่าเธออยู่ได้ด้วยความหวังว่าสามีจะได้รับการปล่อยตัว หลังจากที่เรื่องราวได้รับการสะสางแล้ว ซึ่งเธอยอมรับว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสามาก
“ฉันเชื่อว่าจะต้องมีกระบวนการต่างๆ ที่ฉันต้องไปยืนต่อหน้าผู้พิพากษาเพื่อเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น อธิบายว่าทำไมสามีของฉันจึงควรได้รับอิสรภาพ แต่ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นเลย” คานฮิกล่าว.