โรคสะเก็ดเงิน ผื่นเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย ที่หลายคนไม่รู้ว่าแค่เครียดก็เป็นได้
โรคสะเก็ดเงิน คือ โรคผิวหนังที่ขึ้นในลักษณะของผื่นตามศอก เข่า แขน ขา ศีรษะ แต่หลายคนไม่รู้จัก และไม่รู้ด้วยว่าแค่เครียดก็ทำให้เป็นได้
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย บางคนอาจเรียก โรคสะเก็ดเงิน ว่า เรื้อนกวาง เหตุที่เรียกว่า โรคสะเก็ดเงิน เพราะผื่นที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มสีแดงมีขอบชัด และบนผื่นจะมีขุยสีขาว ดูเหมือนมีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงินปกคลุมอยู่ ทำให้มีการเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคสะเก็ดเงิน ตามลักษณะของผื่นนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน และมีปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ โดยปัจจัยภายใน เช่น ภาวะทางจิตใจ ความเครียด ความโกรธ หงุดหงิด ฉุนเฉียว
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดในร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ระยะมีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือน, การเกิดโรคของอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงและโรคต่าง ๆ ของอวัยวะภายในจะส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อผิวหนังด้วยเสมอ ดังนั้นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการกำเริบได้เมื่อเกิดโรคกับอวัยวะภายในอื่น ๆ
ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น การรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด การระคายเคืองจาก ดีเทอร์เจน ผงซักฟอก สบู่ ครีมที่มีกรดผสม เช่น ครีมลอกหน้า ขัดผิว
ทั้งนี้ วารสารวิชาการโรคผิวหนังของสหรัฐฯ ได้เคยทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงการเป็นโรคสะเก็ดเงินในสตรีที่ดื่มเบียร์ พบว่า สตรีที่ดื่มเบียร์ไม่ต่ำกว่าอาทิตย์ละ 5 ครั้ง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสะเก็ดเงินมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน
ประเภทของโรคสะเก็ดเงิน แบ่งได้ตามลักษณะของผื่น คือ
ชนิดผื่นหนา (Plaque)
เป็นโรคสะเก็ดเงินที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะเป็นผื่นแดงนูนหนา มีขอบชัดเจน บนผื่นจะมีขุยสีขาวเงิน ซึ่งสะเก็ดนี้เป็นเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ผิวหนังบริเวณผื่นมักจะแห้ง คัน และเกิดเป็นแผลได้ง่าย รวมทั้งบริเวณที่มีการเสียดสี
ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate)
เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นเหมือนรูปหยดน้ำสีแดง ๆ เล็ก ๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย พบมากที่ลำตัว แขน ขา โดยผื่นนี้จะไม่หนาเท่าชนิด Plaque ผื่นสามารถเกิดขึ้นได้หากผิวหนังติดเชื้อ และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน มักพบในเด็กและคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี
สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse)
เป็นสะเก็ดเงินที่มักพบในคนอ้วนที่มีเหงื่อออกมาก และระคายเคือง ลักษณะผื่นจะราบเรียบ ผิวแห้ง อักเสบแดง ไม่มีขุย และไม่หนา มักพบตามข้อพับ รักแร้ เต้านม ก้น
ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic)
เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดที่พบได้น้อยที่สุด จัดว่ารุนแรง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินที่ผื่นสะเก็ดเงินหลุดง่าย โดยผื่นชนิดนี้จะแดง กระจายไปทั่ว ขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวหนัง และมักจะมีอาการบวม ปวด และคันร่วมด้วย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น
ชนิดตุ่มหนอง (Pustular)
รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย แบ่งเป็น
- Generalized Pustular เป็นผื่นสะเก็ดเงินแดง บวมปวด และมีตุ่มหนองเกิดขึ้น หากแผลแห้งแล้วก็สามารถกลับมาเป็นหนองได้อีก
- Localized Pustular เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นตุ่มหนองเกิดขึ้นที่บริเวณมือและเท้า ขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร
เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails)
เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นที่เล็บ ทำให้เล็บมีลักษณะเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป
สะเก็ดเงินบริเวณมือ-เท้า (Palmoplantar)
เป็นโรคสะเก็ดเงินบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
อาการสะเก็ดเงิน มักจะเกิดเป็นผื่นแบบเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งโรคสะเก็ดเงินจะกำเริบได้เมื่อผิวหนังบาดเจ็บ เช่น จากการเกา ผิวไหม้จากแดด ติดเชื้อไวรัส หรือแพ้ยา โดยจะมีอาการดังนี้
ผิวหนัง
จะเริ่มเป็นผื่นเล็ก ๆ สีแดง มีขอบชัดเจน รูปทรงกลมหรือรูปไข่ และมีขุย หรือสะเก็ดสีขาวเงินติดอยู่ หากแกะขุยจะมีเลือดออก ก่อนที่ผื่นจะขยายวงกว้างออกไป ทั้งในรูปก้นหอย หรือหยดน้ำ มักเกิดที่ศอก เข่า ขา แขน คอ ศีรษะ
เล็บ
เล็บของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงิน จะเป็นหลุมเล็ก ๆ ขรุขระ หรือมีการหนาตัวอยู่ในเล็บ หากเป็นมาก เล็บจะผุ ร่อนออกมาจากพื้นเล็บได้
ข้อ
ผู้ที่เป็นสะเก็ดเงิน หลังจากมีผื่นขึ้นตามลำตัวแล้ว จะเริ่มปวดข้อเล็ก ๆ ตั้งแต่ปลายนิ้วมือ เท้า มักเป็นสองข้าง บางครั้งอาจปวดตามข้อใหญ่ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อหลัง โดยอาการที่มักพบคือ ปวดข้อ บริเวณรอบข้อ ข้อติดในตอนเช้า หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ข้อพิการได้
ความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน
เราสามารถแบ่งความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน ได้ 3 ระดับ คือ
- Mild Psoriasis คือ โรคสะเก็ดเงิน ที่มีผื่นขึ้นน้อยกว่า 2% มักพบเป็นแห่ง ๆ เช่น เข่า ข้อศอก หนังศีรษะ รักษาได้โดยการทายา
- Moderate Psoriasis คือ โรคสะเก็ดเงิน ที่มีผื่นขึ้นอยู่ระหว่าง 2-10% โดยมากมักขึ้นที่แขน ขา ลำตัว หนังศีรษะ รักษาได้โดยการทายาและรับประทานยา
- Severe Psoriasis คือ โรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นขึ้นมากกว่า 10% ทำให้ผิวหนังแดง เป็นตุ่มหนอง ผิวหนังหลุดลอก และผู้ป่วยมักจะมีอาการข้ออักเสบด้วย
สำหรับอาการแทรกซ้อนที่เกิดได้จากโรคสะเก็ดเงินคือ อาจมีอาการอักเสบของข้อ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลกระทบอาจเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
การรักษาโรคสะเก็ดเงิน
การรักษาโรคสะเก็ดเงิน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยจะรักษาตามขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นที่ 1 เมื่อไม่ได้ผลจึงไปขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3
ขั้นที่ 1 การใช้ยา
ยาที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน นิยมใช้ยาต่าง ๆ ดังนี้
ยาทาสเตียรอยด์
เป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน มากที่สุด มีหลายรูปแบบ การใช้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น เช่น หากผู้ป่วยมีผื่นหนาที่แขน ขา มือ เท้า ให้ใช้ยาในรูปขี้ผึ้ง หากมีผื่นบางที่ใบหน้า ข้อพับ ไม่ควรใช้ยาขี้ผึ้ง เพราะฤทธิ์แรงเกินไป แต่หากมีผื่นหนาที่ศีรษะให้ใช้ยาในรูปแบบครีมเหลว หรือครีมน้ำนม แต่หากผื่นบนศีรษะบางให้ใช้ยาน้ำ เพื่อให้ซึมเข้าสู่ศีรษะได้ดีกว่า ส่วนยาประเภททานและฉีด ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เพราะอาจเกิดตุ่มหนอง ผื่นทั่วตัว รุนแรงกว่าเดิม
ข้อดีของยาทาสเตียรอยด์ หาซื้อได้ง่าย ผื่นยุบเร็ว แต่ข้อเสียคือ หากใช้นานอาจทำให้เกิดภาวะดื้อยาได้ และหากหยุดยา อาจกลับมาเป็นผื่นได้ใหม่ และรุนแรงขึ้น นอกจากนี้หากยามีฤทธิ์แรงจะทำให้ต่อมหมวกไตมีปัญหา และส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ
ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามิน ดี 3 (Calcipotriene)
เป็นยารูปแบบวิตามินดี ลักษณะเป็นครีม ราคาค่อนข้างแพง เหมาะกับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่เป็นน้อยจนถึงปานกลาง แต่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น และไม่ควรใช้มาก เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองได้ จึงไม่ควรใช้บริเวณใบหน้า ข้อพับ อวัยวะเพศ
ยากลุ่มน้ำมันดิน
เป็นสารเคมีกลุ่มไฮโดรคาร์บอนที่ได้มาจากธรรมชาติ ผู้ที่เป็นผื่นที่หนังศีรษะ สามารถใช้ แชมพูผสมน้ำมันดิน (Tar Shampoo) ช่วยรักษา โรคสะเก็ดเงิน ได้ ส่วนครีมผสมน้ำมันดิน ก็ใช้รักษาผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าได้ดี ข้อดี คือ โอกาสที่ผื่น และผิวหนังอักเสบจะกลับมาเป็นใหม่ เป็นได้ช้ากว่าใช้ยาสเตียรอยด์ แต่ข้อเสียคือ หาซื้อยาก ต้องซื้อตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ และยังมีสีและกลิ่นที่ไม่น่าใช้ ยาออกฤทธิ์ช้าไม่ทันใจ
ยาทากลุ่มเรตินอล วิตามินเอ
ทำเป็นยาเจลทาวันละครั้ง ใช้ได้ดีกับโรคสะเก็ดเงิน ที่หนังศีรษะและเล็บ โดยมักใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์
แอนทราลีน (Anthralin)
เป็นยาที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน มานานและนิยมใช้มากที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจะใช้รักษาร่วมกับรังสี UV ข้อจำกัดมีเพียงแค่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทามีสีคล้ำขึ้น นอกจากนี้ไม่ควรใช้กับผื่นแดงและมีน้ำเหลือง เพราะอาจทำให้โรคกำเริบมากขึ้น และไม่ควรใช้กับผื่นบริเวณหน้า คอ ข้อพับ ขาหนีบ อวัยวะเพศ เพราะจะระคายเคืองได้ง่าย
Salicylic Acid
เป็นยาใช้ละลายขุย ทำให้ผิวหนังนุ่ม ลอกขุยออกได้ง่าย เพราะมีส่วนผสมของกรด อยู่ในรูปครีม หรือขี้ผึ้ง เหมาะใช้กับผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่ไม่ควรใช้กับข้อพับ และเด็ก เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ขั้นที่ 2 การใช้แสงรักษา (Phototherapy)
Ultraviolet Light B
เป็นการรักษาโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตบี ใช้ได้ดีกับคนที่เป็นมาก โดยมีผลข้างเคียงน้อย คือ จะมีอาการคันและอาการแดงหรือไหม้ของผิวหนัง แต่มีข้อจำกัดคือ ผู้ป่วยต้องมารักษาที่โรงพยาบาล 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 เดือนติดต่อกัน จากนั้นให้ทำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
PUVA
เป็นการรักษาโรคสะเก็ดเงิน โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตเอ หรือ PUVA ร่วมกับการใช้ยา Psoralen โดยให้ผลดีถึง 75% แต่มีผลข้างเคียงมาก คืออาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นควรใช้ในผู้ที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉายแสง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รักษาประมาณ 20-30 ครั้ง ให้รักษาต่อไปอีก 2-3 เดือน จะลดโอกาสการเกิดซ้ำได้ใหม่
ขั้นที่ 3 การให้ยารับประทาน
ยาที่นิยมใช้ ได้แก่
เมโธเทร็กเซท (Methotrexate)
มักนิยมใช้กับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่เป็นรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่นโดยใช้การรับประทานและฉีดอาทิตย์ละครั้ง เพราะมีผลข้างเคียงสูง คือ อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รวมทั้งอาจทำให้เกิดตับอักเสบ และตับแข็ง ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และผู้ป่วยต้องตรวจเลือดก่อนการรักษา และหลังการรักษาทุก ๆ 3-4 เดือน
นอกจากนี้ ยาประเภทนี้ยังใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยบางประเภท เช่น หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคตับหรือไต, ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ, ผู้ที่ดื่มเหล้ามาก, ผู้ที่ติดเชื้อระยะรุนแรง เป็นต้น
Oral Retinoids
เป็นยาในกลุ่มวิตามินเอ ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินรุนแรง โดยต้องใช้ร่วมกับ UVB และ PUVA ผลข้างเคียงของการใช้ยาคือ ผิวจะแห้ง ลอกเป็นขุย ผมร่วง ทำให้ไขมันในเลือดสูง และตับอักเสบ หากหยุดการรักษาในระยะต้น ๆ จะกลับเป็นปกติได้ หากใช้ยาเกิน 1 ปี อาจทำให้เกิดกระดูกงอกได้
ข้อควรระวังคือ ยานี้ไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการ และผู้ใช้ยาห้ามตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากยาสามารถอยู่ในเลือดได้นานถึง 2 ปี และไม่ควรได้รับวิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามินเออีก
ไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
เป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้กับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินรุนแรง ผลข้างเคียงคือ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เป็นพิษต่อไตได้ ถ้าหยุดยาในระยะต้น ๆ อาจจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ไม่ควรใช้กับผู้ที่ไตพิการ มีโรคความดันโลหิตสูง เคยเป็นมะเร็งมาก่อน หญิงตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
การเลือกใช้ยา ตามตำแหน่งที่เกิดโรค
ศีรษะ
กรณีที่ขุยบนศีรษะไม่หนามาก ให้สระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน 2-8% (Tar shampoo) หากขุยหนา ให้ใช้น้ำมันมะกอก หรือขี้ผึ้งผสม 1-3% Salicylic acid นวดหนังศีรษะทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง หรือทิ้งไว้ข้ามคืน เพื่อให้หนังศีรษะนุ่มลงก่อน แล้วจึงสระผมด้วยน้ำอุ่นและแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน นวดให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างน้ำออก ใช้หวีซี่ถี่ ๆ ค่อย ๆ ขูดสะเก็ดบนหนังศีรษะออก อย่าขูดแรง เพราะอาจทำให้ สะเก็ดเงิน ขึ้นมาใหม่ และเมื่อผื่น หรือสะเก็ดเงินหายแล้ว ให้สระผมด้วยแชมพูยาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิตามินดี (Calcipotriol) นวดศีรษะ เพื่อลดการอักเสบได้
เล็บ
การรักษาสะเก็ดเงินที่เล็บ ทำได้โดยการใช้ยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาแรง ดังนั้นจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และยังสามารถใช้ยาทากลุ่มวิตามินดี ทาร่วมกันได้ โดยผู้ที่มีขุยที่เล็บ ต้องทำให้ขุยลอกหลุดเสียก่อน ด้วยการใช้ 10-20 % Salicylic acid ในรูปครีมหรือขี้ผึ้งทาทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วขูดสะเก็ดออกแล้วจึงทายาสเตียรอยด์หรือ Calcipotriol ointment
ใบหน้า
นิยมใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน ๆ รักษา เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้าที่บอบบาง และไม่ควรใช้ในระยะเวลานาน
โรคสะเก็ดเงินติดต่อหรือไม่
โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคอันตราย และไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่เป็นก็อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ ดังนั้นผู้ป่วยและคนรอบข้างต้องเข้าใจโรคนี้ นอกจากนี้เมื่อรักษาหายแล้วต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะโรคนี้เป็น ๆ หาย ๆ อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
วิธีควบคุมโรคสะเก็ดเงิน ไม่ให้กลับมาเป็นอีก
1. หลีกเลี่ยงหรือกำจัดปัจจัยที่กระตุ้นหรือสนับสนุนให้โรคกำเริบ
2. สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง เพื่อไม่ให้ผิวหนังถูกกระทบกระแทก แกะ เกา หรือสัมผัสสารที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
4. เลิกสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ผู้ใกล้ชิดต้องประคับประคองจิตใจผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยใจสงบ
6. ผู้ป่วยต้องทานยา และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
(เครดิต สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โดย กระปุกดอทคอม)
นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส