ดูหนังไทย
“ของขวัญ“ ความสุขอยู่ที่ใจ.. ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ

“ของขวัญ” ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ ผลงานสร้างด้วยความเจตนาดีของค่ายสหมงคลฟิล์ม ที่ให้คนไทยได้ชมฟรีกันตั้งแต่ 28 ตุลาคม นี้เป็นต้นไป โปรเจ็กต์ “ของขวัญ”เป็นหนังที่สร้างด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9’ นำมากลั่นกรองออกมาเป็นภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง โดย 4 ผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร , ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล , ก้องเกียรติ โขมศิริ และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว และน่าประหลาดใจที่สามารถแบ่งงานตามภูมิหลังและความถนัดของผู้กำกับแต่ละท่านได้อย่างลงตัว 4 คน 4 ภาค , มะเดี่ยว เป็นคนเหนือก็รับงานทางภาคเหนือไป , ปรัชญา เป็นคนภาคอีสานก็รับงานภาคอีสานไป ส่วนก้องเกียรติ แม้ไม่ใช่คนใต้ แต่ผลงานที่ผ่านมาก็วนเวียนกับชาวใต้มาหลายเรื่องก็น่าจะถนัดหนังทางภาคใต้ ส่วน อุ๋ย นนทรีย์ ก็รับเรื่องราวทางภาคกลางไป

เปิดเรื่องแรกด้วย “ดอกไม้ในกองขยะ” ผลงานของ นนทรีย์ นิมิบุตร เล่าเรื่องของ จุก คนเก็บขยะที่อ่านหนังสือไม่ออก จุก เป็นตัวแทนครอบครัวระดับล่างชัดเจน เขามีเมียที่ติดเล่นหวยและปากจัดจิกด่าผัวทุกเช้าเย็น ลูกชายวัยรุ่นมีมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ ไว้ขับวิน แต่ก็เป็นหนี้โต๊ะบอลมากมาย และลูกสาววัยกำลังโตที่อยากได้ไอโฟน8ไว้ทัดเทียมกับเพื่อน ๆ ตามแฟชั่น หนังเล่าเรื่องโดยมีจุกเป็นจุดศูนย์กลางก่อนพาไปรู้จักกับเมีย ลูกชายและลูกสาว ให้เห็นถึงวิกฤตของแต่ละคน จากนั้นบทหนังก็โยนโจทย์ท้าทายให้จุก ว่าจะเลือกทางผิดแต่แก้ปัญหาทั้งหมดในครอบครัวได้ หรือจะเลือกทางเป็นคนดีซื่อสัตย์แต่ปัญหาทุกอย่างยังคงอยู่…

จุดเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือการที่นนทรีย์โน้มน้าวเอ็ม สุรศักดิ์ ให้กลับมาปรากฏตัวหน้าจอได้อีกครั้งในวัย 52 ปี หลังจากเบนตัวเองไปทำงานเบื้องหลังอย่างจริงจัง ครั้งสุดท้ายที่รับบทนำก็ใน “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” เมื่อ 22 ปีก่อน (ไม่นับ”แก๊งตบผี” 2555 นะ) เอ็ม ในบท จุก มากับภาพลักษณ์ที่ชวนอึ้ง ผิดหูผิดตาหนวดเครารุงรังแต่ผมสกินเฮด แต่ก็ดูใช่มากกับภาพของ “คนเก็บขยะ” แม้หนังจะยาวแค่ครึ่งชั่วโมงนิด ๆ แต่บท”จุก”ก็ถือว่าเป็นงานดราม่าสุดของเอ็มแล้วล่ะ และเชื่อว่าการไปทำงานเบื้องหลังก็มีส่วนพัฒนาความสามารถการแสดงของเอ็ม การหยิบจับถุงขยะ โหนขึ้นลงรถขยะดูเป็นธรรมชาติแสดงได้อย่างเข้าตาและดูลื่นไหลมากกว่ายุควัยรุ่น  ชอบการทำการบ้านของทีมงานกับการหาโลเคชั่น บ้านริมคลองน้ำเน่า ข้างฝาผุพัง สภาพแวดล้อมเหล่านี้ยิ่งทำให้บรรยากาศหนังดูสมจริงมากขึ้น

  แม้”ดอกไม้ในกองขยะ”จะเป็นเรื่องเปิดที่มีโทนหนักสุดในจำนวน 4 เรื่อง แต่เลือกที่จะเล่าให้ไม่เครียดนักไม่ถึงกับน้ำตาท่วม แต่ละโจทย์ที่บทหนังโยนเข้ามาก็ล้วนหนักหนาสาหัสแทบมองไม่เห็นทางออก แถมหยอดคำถามชวนงงไว้ช่วงกลางเรื่อง สุดท้ายหนังก็จบแบบรังแกคนดู ไม่มีบทเฉลยใด ๆ ทั้งสิ้น ทิ้งไว้ให้คิดต่อตีความกันเอาเอง ขณะกำลังอึ้งกับฉากจบของ “ดอกไม้ในกองขยะ” ที่ทิ้งค้างให้สมองทำงานต่อ หนังก็เริ่มเรื่องต่อไปทันที ไม่มีเครดิตตอนท้ายของแต่ละเรื่อง มีแต่ขึ้นชื่อผู้กำกับในแต่ละตอน

   เรื่องถัดไป “เมฆฝนบนป่าเหนือ” ก็ตามมาทันที หนังมาตามแนวถนัดของ มะเดี่ยว ที่มักจะทำหนังที่เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาววัยรุ่น เรื่องนี้ก็เลยจับกิจกรรมปลูกป่าของนักศึกษามหาวิทยาลัย 15 คน ที่ขึ้นดอยทางเหนือทำภารกิจปลูกป่า 10 ไร่เป็นโครงการสุดท้ายส่งอาจารย์ก่อนปิดภาค ตัวละครหลักคือ “แก๊บ” หัวหน้าโครงการ “แป้ง”สาวสวยที่เป็นผู้ช่วยโครงการ และ “ดอน”เพื่อนสนิทของแก๊บที่แอบรักแป้งอยู่ มี “ผู้ใหญ่บ้าน” คอยทำหน้าที่ต้อนรับดูแลเหล่านักศึกษา วิกฤตการณ์ของเรื่องนี้ คือประเด็นพิพาทระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านที่ต้องการพื้นที่ตรงนั้นไว้ปลูกข้าวโพด ทางนักศึกษาก็พยายามอธิบายถึงข้อเสียระยะยาวที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมจากการถางป่าปลูกข้าวโพด ชาวบ้านรับรู้ปัญหาแต่ก็เลือกที่จะแก้ปัญหาปากท้องเฉพาะหน้ามากกว่า ประเด็นที่เล่าควบคู่กันไปคือเรื่องราวกุ๊กกิ๊กระหว่าง ดอน-แป้ง-แก๊บ เหมือนเป็นลายเซ็นของมะเดี่ยวนะ นี่ขนาดว่าทำหนังเทิดพระเกียรติก็ยังแอบหยอดเรื่องชายรักชายไว้ด้วย

 .. มีความรู้สึกว่า “เมฆฝนบนป่าเหนือ” เป็นตอนที่ยาวที่สุด หรืออาจจะเพราะเป็นเรื่องที่มี”แผล”มากที่สุด ทั้งจากประเด็นขัดแย้งที่เบาเพราะเป็นแค่เรื่องโปรเจ็กต์ของนักศึกษา การเล่าเรื่องที่ไม่ชวนติดตาม เป็นเรื่องที่ขยับตัวไปมาด้วยความอึดอัดมากสุดแล้วขณะดู ไม่มีภาพมุมกว้างที่ให้เห็นถึงทัศนียภาพสวยงามของภูเขาภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาพความเลวร้ายของการถางป่าปลูกข้าวโพด ทุกอย่างถูกพูดถึงผ่านบทสนทนาของตัวละครเท่านั้น การแสดงที่ดูแข็งทั้ง ชวินโรจน์ ลิขิตเจริญสกุล อดีตดาราเด็กจาก “บ้านฉันตลกไว้ก่อน” ในบท “แก๊บ” ที่วันนี้ฝีมือก็ยังไม่พัฒนาให้เห็น แล้วมารับบทหลักก็ดูขัดตาพอควร และบรรดาตัวประกอบที่มาเล่นเป็นชาวบ้านก็ยังพูดแบบท่องบทให้ฟัง ที่ดูลื่นไหลสุดคือ อิษยา ฮอสุวรรณ สาวงานชุกที่เพิ่งมีผลงานฮิตมาทั้ง”สยามสแควร์” และ “ฉลาดเกมส์โกง” ส่วน บุญส่ง นาคภู่ นักแสดงรุ่นใหญ่ในบท “ผู้ใหญ่บ้าน” นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นทั้งผู้กำกับและดาราที่ถนัดกับบทชาวบ้านแบบนี้อยู่แล้ว เจอบทเข้าทางก็แทบหลับตาเล่น ยกให้ “เมฆฝนบนป่าเหนือ” เป็นเรื่องที่ด้อยที่สุดใน ของขวัญ กล่องนี้เลย

   “สัจจะธรณี” เปิดเรื่องมาด้วยลายเซ็นของ ก้องเกียรติ ชัดเจน กับหมู่บ้านในดินแดนขัดแย้งทางใต้ เปิดด้วยฉากรุนแรงของระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์ มีภาพเลือดและศพให้เห็นตั้งแต่เปิดเรื่อง ตามสไตล์ของก้องเกียรติ หนังปูเรื่อง 10 นาทีแรกด้วยเสียงบรรยายของ “ชบา” เด็กหญิงที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก แม่เป็นนักศึกษาสาวที่ตัดขาดจากครอบครัวที่กรุงเทพฯ เหตุเพราะหนีตามพ่อที่เป็นนักศึกษาหัวรุนแรงชาวใต้มาเริ่มต้นชีวิตครอบครัวทางใต้ ตัวพ่อ “สะมะแล” เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน จึงเลือกทิ้งลูกและเมียหนีไป เหลือเพียงแม่และชบาที่ดิ้นรนสู้ชีวิตกันต่อไป แต่แม่ก็ยังมั่นใจว่าสะมะแลไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ครึ่งหลังหนังเล่าการเดินทางหาพื้นเพของพ่อและแม่ ก่อนจะเจอความลับที่ทำให้เธอเข้าใจ”พ่อ”มากขึ้น เป็นเรื่องที่เนื้อหาเข้มข้นสุดใน 4 เรื่อง มีความเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ในเส้นเรื่อง มีความเป็นทริลเลอร์พอตัว โดยเฉพาะฉากระเบิดก็ทำได้ชวนลุ้นมาก

   เป็นอีกเรื่องที่ดึงดารารุ่นเก่ากลับมาหน้าจอคือ เอ อัญชลี หัสดีวิจิตร พี่สาวของโย ยศวดี ที่ห่างหายจากหน้าจอไปนับยี่สิบปี รอบนี้กลับมาก็ได้รับบทรุ่นแม่เลย “สัจจะธรณี” นับว่าเป็นเรื่องที่หยิบประเด็นรุนแรงที่สุดมาเล่า ด้วยการให้ฉากหลังเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสมจริงมากขึ้นด้วยการอิงเหตุการณ์วางระเบิดที่ศาลพระพรหม และการวางให้ตัวละครหลักอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่อ้างถึง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9’ อย่างชัดเจน เรื่องราวเข้มข้นแต่กลับดูง่ายสุด ไม่มีนัยยะแอบแฝงลึกซึ้งมากมาย

“The Letter” ผลงานของปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่มีความเป็นแฟนตาซีที่สุดแล้ว เรื่องราวของหนูน้อย “ธรรมะ” อ่านเอาจากเครดิตนะ เพราะในเรื่องไม่มีการเรียกชื่อเด็ก ธรรมะ เป็นเด็กชายอยู่ที่ “น้ำพอง” ขอนแก่น รักและศรัทธาในตัวในหลวง เลยเขียนจดหมายหาในหลวง จ่าหน้าซองจดหมายสีแดงว่าถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ธรรมะแอบอยู่ข้างตู้จดหมายแล้วก็เริ่มผจญภัยตามซองจดหมายของเขาจากไปรษณีย์เขต มาไปรษณีย์ขอนแก่น มาจนถึงกรุงเทพฯ ด้วยความที่หนังดูมีความเป็นจริงสูงกับการติดตามขั้นตอนการเดินทางของจดหมายแบบละเอียดแทบทุกขั้นตอน แต่หนังกลับทิ้งเบื้องหลังของธรรมะไว้ให้เป็นคำถามคาใจ แม้ประเด็นเหล่านี้จะเป็นประเด็นรองแต่จำนวนคำถามที่ทิ้งไว้ตามทางมันก็ดูมากมายเกินไป ทำไมทิ้งบ้านมาแบบนี้? พ่อแม่ตามหาไหม? เอาอะไรกิน? ทำไมขึ้นรถแต่ละคันมันง่ายจัง? อีฉี่ทีไหน? แล้วจะกลับอย่างไร? สุดท้ายหนังก็ไม่รู้จะตอบคำถามแบบนี้อย่างไร บวกกับการวางโจทย์มาให้เป็นหนังตัวเองไม่เน้นบทสนทนาด้วย ก็เลยเลือกจบแบบแฟนตาซีหลุดโลกมันไปเลย สรุปซะว่ามันเป็นหนังแฟนตาซีก็เลยไม่ต้องตอบอะไรทั้งสิ้น ส่วนดีของ “The Letter” คือการเล่าเรื่องได้ด้วยบรรยากาศสดใส ทั้งการแสดงของ ด.ช.ฐิรพจน์ ต่วนสวัสดิ์ ที่เป็นผลงานประเดิมเรื่องแรก ก็อยู่ในระดับผ่าน เล่นได้เป็นธรรมชาติไม่ขัดตา ร้องห่มร้องไห้ได้ดูสมจริง และดนตรีประกอบในสไตล์การ์ตูน ที่ดูเข้ากับโทนเรื่อง

4 เรื่องใน “ของขวัญ” ให้รสชาติที่ต่างกันมากพอดู ทั้งความซื่อสัตย์บนชีวิตยากไร้ของ “จุก” , ความมุ่งมั่นที่จะปลูกป่าและทำความเข้าใจกับชาวไร่ของ “แก๊บ” , ความรักแผ่นดินเกิดของ “สะมะแล” และ ความรักในหลวงด้วยความไร้เดียงสาของ “ธรรมะ” เราในฐานะคนดูได้เห็นแง่มุมชีวิตช่วงสั้น ๆ ของคนเหล่านี้ที่เชื่อมั่นว่าตนได้ทำความดีตามคำสอนของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9″ แม้สุดท้ายเราไม่ได้เห็นบทลงเอยจากการการกระทำของทั้ง 4 คนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ”รอยยิ้ม” ของพวกเขาในขณะที่ทำความดี แม้ผลลัพธ์มันอาจจะไม่ได้ออกมาสวยหรู แต่การได้รับความสุขเกิดขึ้นในใจระหว่างที่ทำก็เพียงพอแล้ว ทำโดยไม่ต้องแคร์คำครหา อย่างที่ทั้ง 4 คนโดนพิพากษาจากคนรอบข้างว่า โง่ เสียแรงเปล่า หรือโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย


เฉลี่ยแต่ละเรื่องของ “ของขวัญ” น่าจะอยู่ที่ 30-40 นาที ความยาวรวมทั้ง 4 เรื่อง ก็ปาเข้าไป 140 นาที ด้วยเนื้อหาโดยรวมค่อนข้างหนักและไม่มีอารมณ์ขันเลย แม้จะพยายามพ่วงประเด็นจริงใกล้ตัวทั้ง “กราบรถ” และ “ระเบิดที่ศาลพระพรหม” เข้ามาในเรื่องราว แต่โดยรวมก็ยังเป็นประสบการณ์ 2 ชั่วโมงกว่าที่ไม่รื่นรมย์นัก และสุดท้ายก็เลี่ยงไม่ได้ที่”ของขวัญ” จะถูกหยิบไปเปรียบเทียบกับหนังเทิดพระเกียรติจากอีกค่ายที่ออกมาในปีก่อน แม้คุณภาพงานสร้างไม่ต่างกัน ผู้สร้างล้วนมีเจตนาดีเช่นกัน แต่เรื่องก่อนหน้าก็เลือกทำออกมาให้เสพง่ายกว่ามาก “ของขวัญ” จึงเปรียบเป็นอาหารจานเด็ดทรงคุณค่าทางโภชนาการต่อสมองและจิตใจ ไม่ใช่ขนมหวาน รสชาติอร่อยที่ถูกใจคนหมู่มาก เป็นหนังที่ต้องชมและใช้วิจารณญาณในการตีความพอดูกับโจทย์ที่ทุกเรื่องตั้งมาแล้วทิ้งคำถามค้างไว้ให้ขบคิดต่อไป เน้นย้ำว่าก่อนดูให้เตรียมใจไปรับ”สาระ”จากหนังมากกว่า”ความบันเทิง”แล้วจะไม่อึ้งขณะดู























 




นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
619
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข