แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : โจ ไบเดน กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 อย่างสมบูรณ์แบบหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม เตรียมรับภาระหนักในยามประเทศกำลังแตกเป็นสองเสี่ยงจากพฤติกรรม “ผิดจารีต” ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
พิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน มีขึ้นในช่วงสายของวันพุธที่ 20 มกราคม 2021 ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยเอพีรายงานว่ามีหิมะได้หยุดตก และมีแดดออก ก่อนถึงพิธีเพียงไม่นาน และว่าพิธีสำคัญที่มีขึ้นทุกสีปีนี้ เป็นไปตามกำหนดการ แม้ว่าบริเวณประกอบพิธี ได้กลายเป็น “สมรภูมิ” ของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว และประเทศกำลังย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีท่ีเข้ารับตำแหน่งในวัย 78 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในรประวัติศาสตร์ กล่าวสุนทรพจน์แรกหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นไปตามความประสงค์ของชาวอเมริกัน และเป็นบทพิสูจน์ว่า “ประชาธิปไตยจะคงอยู่เสมอ”
“ความประสงค์ของประชาชนเป็นที่รับรู้แล้ว และความประสงค์ของประชาชนได้รับการตอบสนองแล้ว เราได้เรียนรู้อีกครั้งว่า ประชาธิปไตยมีคุณค่า และประชาธิปไตยเปราะบาง ในชั่วโมงนี้ เพื่อนของผม ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ” โจ ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์หลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตัว และว่า “นี่คือวันของอเมริกา นี่คือวันของประชาธิปไตย วันแห่งประวัติศาสตร์ และความหวังของการฟื้นฟู และการสะสางปัญหา”
ไบเดน พูดถึงความท้าทายที่รอเขาอยู่ข้างหน้า ทั้งวิกฤต โควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 400,000 คน ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล และปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติสีผิว ที่ปะทุรุนแรงที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา
“ต้องซ่อมแซม ต้องสร้างใหม่ ต้องเยียวยารักษา ต้องสร้างและต้องเพิ่มมากมาย” ไบเดน กล่าว และว่ามีเพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต้องทำงานท้าทายมากกว่าเขา หรือเผชิญกับช่วงเวลาอันท้าทายและยุ่งยากเหมือนที่เขาเผชิญอยู่ในขณะนี้
พิธีสาบานตัวของโจ ไบเดน ซึ่งมีการอารักขาหนาแน่นโดยทหารจากกองกำลังป้องกันชาติกว่า 25,000 คนนี้ มีอดีตประธานาธิบดี ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากชาวโลกถึงสามคนมาร่วมเป็นสักขีพยาน คือบิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัก โอบาม่า
ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกในรอบกว่า 180 ปี ที่ไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนต่อจากเขา ออกเดินทางไปฟลอริด้าก่อนพิธีจะเริ่มไม่นาน โดยไม่วายปลุกปั่นสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาอีกครั้งก่อนพ้นตำแหน่งว่าชัยชนะของไบเดนมาจากการทำผิดกฎหมาย
ข่าวบอกว่าการไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของของทรัมป์ คือการตอกย้ำให้เห็นชัดว่า “การเยียวยาปัญหาของประเทศ” เป็นภารกิจที่จำเป็น และไม่ง่ายเลยของไบเดน
ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของอเมริกา กล่าวถึงความแตกแยกภายในประเทศ ที่ลุกลามถึงขั้นมีการก่อเหตุจลาจล บุกรุกรัฐสภาในขณะที่สภาคองเกรส กำลังประชุมรับรองผลการเลือกตั้ง และมีการประกาศ “ล่าตัว” นักการเมืองหลายคนที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์เห็นว่าเป็นศัตรู ดังภาพที่ปรากฎต่อสายตาชาวโลกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ว่าเป็นช่วงที่วิกฤตและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา
“ผมรู้ว่าพลังที่แบ่งแยกเรา มันหยั่งรากลึกและเป็นจริง แต่ผมก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ ประวัติศาสตร์ของเรามีเรื่องราวขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ระหว่างอุดมการณ์แบบอเมริกัน (American ideal) ว่าเราทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม กับแนวคิดหยาบคาย ความเป็นจริงอันน่าเกลียดของแนวคิดเหยียดผิว, ชาตินิยม, ความกลัว, การใส่ป้ายสีผู้อื่นให้น่ากลัว ซึ่งฉีกกระชากเราให้แตกแยกกันมายาวนาน” ไบเดนกล่าว และย้ำชาวอเมริกันจะต้องร่วมกันเผชิญช่วงเวลาวิกฤติ และท้ายทายที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ โดยใช้ความสามัคคี
“เราจะต้องเผชิญสถานการณ์ขณะนี้ ในฐานะสหรัฐอเมริกา” ไบเดน กล่าว
โดยก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้าพิธีสาบานตัวนั้น นางคามาล่า แฮร์ริส ได้เข้าพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีก่อน ทำให้อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นรองประธานาธิบดีเพศหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ รวมถึงเป็นคนผิวดำและคนเชื้อสายเอเชียใต้ (อินเดีย) คนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้นำหมายเลขสองของสหรัฐ ด้วย.