อเมริกาและแคลิฟอร์เนีย
เตือนคนแอลเอฉีดวัคซีน “เอ็มพ็อก” ก่อนร่วม LA Pride

แอลเอ (สยามทาวส์ยูเอส) : แม้อนามัยโลกจะยกเลิกภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “เอ็มพ็อก” ไปแล้วก็ตาม แต่สาธารณสุขแอลเอ ออกมาเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน หากประสงค์จะเข้าร่วมมหกรรมเกย์ “แอลเอ ไพร์ด” ต้นมิถุนายนนี้


สำนักงานสาธารณสุขของลอส แอนเจลิส เคาน์ตี้ แถลงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2022 แนะนำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อโรค เอ็มพ็อก (ฝีดาษลิง) ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน หากประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงาน LA Pride ในช่วง 9-10 มิถุนายนนี้

“แม้ลอส แอนเจลิส เคาส์ตี้ จะมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วแค่ 3 รายนับจากวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา แต่เราได้รับรายงานการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อก อย่างน้อย 14 รายในชิคาโก้ เป็นการขับเน้นให้เห็นถึงความเสี่ยงสูงที่ เอ็มพ็อกจะระบาดในพื้นที่ของเราอีกครั้ง” ถ้อยแถลงของสำนักงานสาธารณสุขฯ ระบุ

โดยสำนักงานสาธารณสุขฯ ได้แนะนำอย่างแรงกล้า ให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเอ็มพ็อกให้ครบสองโดส เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันการติดเชื้อร้าย และการเจ็บป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อาการที่ชัดเจนของ เอ็มพ็อก คือเป็นตุ่มหนองตามร่างกาย มีอาการเหมือนไข้หวัด ปวดเมื่อยร่างกาย ฯลฯ เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากการแตะต้องสัมผัสแบบใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อโดยตรง โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ ซีดีซี ระบุว่าผู้ติดเชื้อสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ในช่วงสี่วันก่อนจะมีอาการปรากฎ

แม้จะเป็นโรคที่ติดต่อกับทุกเพศ แต่แพทย์ระบุว่าประชากรกลุ่มต่อไปนี้ ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงอันตรายจาก เอ็มพ็อก สูงสุด

-ชายหรือชายข้ามเพศ ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือชายข้ามเพศ

-ใครก็ตามที่ซื้อบริการทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นหลายๆ คน

-ผู้มีเชื้อ เอชไอวี

-ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยงทั้งสามกลุ่มที่กล่าวไปแล้ว

สำนักงานสาธารณสุขแอลเอ ยืนยันว่าวัคซีน สามารถป้องกันการติดเชื้อ เอ็มพ็อก ได้ประมาณ 70-85 เปอร์เซ็นต์ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยหนักได้ โดยการขอรับวัคซีนโดสที่สอง สามารถทำได้ทันที ไม่ว่าจะผ่านการฉีดโดสแรกมานานเท่าไหร่ก็ตาม

โดยวันเดียวกันนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศสำหรับโรคเอ็มพ็อก หลังจากที่มีการเตือนภัยขั้นสูงสุดดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในกว่า 100 ประเทศ

ชื่อเดิมของโรคเอ็มพ็อก คือโรคฝีดาษลิง หรื Monkeypox โดยอนามัยโลกประกาศเปลี่ยนชื่อโรคดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าชื่อโรคฝีดาษลิง อาจสร้างปัญหาเหยียดเชื้อชาติ และเป็นการสร้างตราบาป

แม้จะไม่เห็นว่า เอ็มพ็อก เป็นอันตรายในระดับนานาชาติอีกต่อไป แต่อนามัยโลกฯ ก็เตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังโรคร้าย ทั้งเอ็มพ็อก และโควิด-19 ต่อไป โดยบอกว่าทั้งสองโรคยังคงมีอยู่ และมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดในระดับนานาชาติได้อยู่เสมอ.




 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข