หลังจากประเทศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ตามประกาศ “พรบ.สมรสเท่าเทียม” ในราชกิจจานุเบกษาปี 2567 และมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2025 เป็นต้นไปนั้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ประกาศของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านอินสตาแกรมว่า “สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก พร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในประเทศที่กฎหมายท้องถิ่นยอมรับ”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ได้ให้ข้อมูลกับสยามทาวน์ยูเอส ว่า วันที่ 23 มกราคม ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ และเป็นวันที่คนไทยทุกคนควรภูมิใจ ที่ประเทศไทยของเรามีความก้าวหน้าด้านกฎหมาย แสดงให้ทั่วโลกรับรู้ว่าเราเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
“จริงๆ มันมากกว่าคำว่า ‘ยอมรับ’ ต้องใช้คำว่า ‘โอบรับ’ ค่านิยมตรงนี้ ซึ่งเป็นสากล และเปิดโอกาสให้คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันทางเพศ สามารถจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้โดยกฎหมายรองรับ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญและเป็นจุดที่เราน่าจะมาร่วมกันเฉลิมฉลอง”
กงสุลใหญ่ฯ บอกด้วยว่าการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกับสถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถทำได้ทั้งในกรณีเป็นคนไทยทั้งสองฝ่าย หรือคนไทยแต่งกับชาวต่างชาติ และว่าขั้นตอนการจดทะเบียนฯ จะเหมือนกับการสมรสแบบเดิมทุกอย่าง คือเริ่มจากการอัพโหลดเอกสารที่ต้องการเข้ามาให้เจ้าหน้าที่ตรวตจสอบล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ของสถานกงสุลใหญ่ฯ (คลิก) แล้วเลือกวัน-เวลานัดหมายที่จะเข้ามาจดทะเบียนสมรส
โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ว่าครบถ้วนแล้ว ก็จะยืนยันนัดทางอีเมล์ เพื่อให้คู่สมรสเข้ามาจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียนได้ตามวันและเวลาที่ระบุเอาไว้ โดยต้องมาพร้อมกับพยานบุคคลที่เป็นคนไทยสองคน
“ขั้นตอนนี้ เป็นนิติกรรมที่ต้องมาด้วยตัวเอง เพราะว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บอกว่าคู่สมรสจะต้องมาแสดงความประสงค์ที่จะจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียนเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น” กงสุลใหญ่ฯ กล่าว
ส่วนเอกสารที่จำเป็นต้องใช้คือบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางไทยที่ยังไม่หมดอายุ ส่วนคู่สมรสที่เป็นต่างชาตินั้น จะต้องนำหนังสือเดินทางมาแสดง ไม่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ เพราะเอกสารแสดงตัวดังกล่าว ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของผู้ถือได้
นายต่อ ศรลัมพ์ บอกว่าในกรณีที่เป็นคนไทยนั้น เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ได้โดยตรง จึงป้องกันกรณีสมรสซ้อนได้ แต่ในกรณีต่างชาติ โดยเฉพาะคู่สมรสที่เป็นชาวอมริกันนั้น จะต้องมีหนังสือยืนยันความเป็นโสด ที่ตัวเองเขียนขึ้นและผ่านการรับรองเอกสาร (Notary Public) มาแสดงด้วย
“ถ้าเป็นประเทศอื่น เราจะให้เขาไปติดต่อสำนักทะเบียนประชาชนของประเทศเขา เพื่อเอาเอกสารมาตัวนึง เรียกว่าหนังสือรับรองความเป็นโสด แต่สหรัฐฯ เขาไม่ออกเอกสารนี้ให้ เพราะเขาไม่มีศูนย์ข้อมูลกลาง (central database) คือแต่ละเคาน์ตี้ แต่ละรัฐ จะไม่มีการแชร์ฐานข้อมูลกันทั้งประเทศเหมือนไทยเรา ดังนั้น เขาจึงต้องมีหนังสือยืนยันความเป็นโสดที่เขียนขึ้นเอง”
หลังจากการจดทะเบียนสมรสที่สถานกงสุลใหญ่ฯ แล้วประมาณ 5-7 วัน คู่สมรสเท่าเทียมก็จะได้รับทะเบียนสมรสของประเทศไทย ส่งไปให้ทางไปรษณีย์ โดยขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของสถานกงสุลใหญ่ฯ นั้น จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
“อยากจะเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ แอลจีบีทีคิว ที่กำลังวางแผนจดทะเบียนสมรสกัน ก็เรียนเชิญได้ ท่านใดที่สนใจติดต่อมาที่สถานกงสุลใหญ่ได้เลย ตั้งหน้าตั้งตารอนะครับว่า คู่แรกที่เราจะได้ทะเบียนให้นี่ เป็นคู่ไหน” กงสุลใหญ่ฯ ต่อ ศรลัมพ์ กล่าว.