ข่าวคนไทยในอเมริกา
บทความ : รอดไหม? เมื่อรีสอร์ทระดับลักชู “แบน” เด็กและวัยรุ่น

















กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มคลั่งความเสมอภาคและสิทธิ์ส่วนบุคคลในแคลิฟอร์เนีย ออกมากำหมัดด้วยความไม่พอใจอย่างรุนแรง เมื่อรีสอร์ทหรูหราริมทะเลในซานดิเอโก้ เคาน์ตี้ เริ่มใช้นโยบายไม่ต้อนรับแขกอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าพักค้างคืน บอกว่าเพื่อสร้างบรรยากาสอันสงบและผาสุข หรือ tranquil experience ให้กับแขกเหรื่อวัยผู้ใหญ่ที่เสียเงิน (ก้อนโต) เข้าพัก

ทีมข่าวสยามทาวน์ยูเอส

นโยบายให้บริการแบบ “อะเดาท์ โอลลี่” ของ อาลิลา มาเรีย บีช รีสอร์ท (the Alila Marea Beach Resort) รีสอร์ทริมทะเลของเมืองเด็นซินีตัส ครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights) ของแคลิฟอร์เนีย ว่าด้วยความเท่าเทียมในการใช้บริการของธุรกิจและพี่พัก (accoodation) หรือไม่

เว็บไซต์ของรีสอร์ท บอกว่าเริ่มใช้นโยบายไม่ต้อนรับเด็กและวัยรุ่น มาตั้งแต่วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์สำหรับนักเดินทางที่ต้องการผ่อนคลายแบบสงบสุข ขณะพักผ่อนริมหาด

แม้ว่านโยบายแบบนี้ จะมีใช้ในสถานบริการทั่วโลก แต่สำหรับแคลิฟอร์เนีย นอกจากอาลิลา รีสอร์ทแล้ว ข่าวบอกว่ามีโรงแรมและรีสอร์ท อีกเพียงสามแห่งเท่านั้น คือ วิสต้า เฮลท์ สปา โฮเทล กับอีกสองแห่งซึ่งเป็นรีสอร์ทแบบคาสิโน จึงชอบธรรมอย่างยิ่งในการปฏิเสธผู้เยาว์ นั่นคือ Sycuan และ Viejas เพราะกฎหมายของแคลิฟอร์เนียห้ามไม่ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 21 ปีเล่นการพนัน

อย่างที่บอกไปว่าแคลิฟอร์เนีย มีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ จึงแทบไม่มีที่ยืนให้นักท่องเที่ยวระดับไฮเอ็น ที่ไม่อยากฟังเสียงเอะอะของเด็กเล็ก หรือเสียงกรีดๆ ของกลุ่มวัยรุ่นขณะนอนผึ่งแดดอยู่ริมสระ หรือริมทะเล

กระทั่งรีสอร์ทอาลิลา แห่งนี้ก็เถอะ ถึงจะห้ามเด็กและวัยรุ่นเข้าพัก แต่ก็ไม่สุดโต่งถึงขั้นห้ามเด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในรีสอร์ท หรือตามผู้ปกครองเข้าไปกินลันซ์ หรือดินเนอร์ ในร้านอาหารของรีสอร์ท

ถามว่า แล้วนโยบายของอาลิลา รีสอร์ทริมทะเลแห่งนี้ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่... คำตอบของผู้เชี่ยวชาญแตกออกเป็นสองขั้ว

กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติของธุรกิจในรัฐแคลิฟอร์เนียชื่อ The Unruh Civcil Rights Act (1959) มีเนื้อหาแบบ “เหวียงแห” ว่าห้ามไม่ให้ธุรกิจใช้นโยบายตามอำเภอใจเพื่อปฏิเสธความเท่าเทียมในการใช้บริการ จากลักษณะจำเพาะ หรือ characteristics เช่นเชื้อชาติ เพศ สีผิว ศาสนา ความพิการ ฯลฯ

เว็บไซต์ของแผนกสิทธิพลเมืองของรัฐ (Civil Rights Department) ยกตัวอย่างเกี่ยวกับกฎหมายข้อนี้เอาไว้ เช่น คุณหมอไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ที่ติดเชื้อ เอชไอวี ได้, บาร์หรือร้านเหล้า ไม่สามารถจัดกิจกรรม “เลดี้ไนท์” ให้ส่วนลดเฉพาะลูกค้าหญิงได้ หรือธุรกิจห้างร้าน ไม่สามารถห้ามลูกค้าที่มีสุนัขบริการ หรือ service dog เข้ามาในร้านได้ เป็นต้น

แม้จะไม่ถึงขั้นบังคับให้ธุรกิจต้องต้อนรับลูกค้าทุกคน แต่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายบอกว่า การปฏิเสธลูกค้า จำเป็นจะต้องมีเหตุผลที่ฟังขึ้น ไม่เกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิงกับการเลือกปฏิบัติในทุกแง่ทุกมุม

ยกตัวอย่างการปฏิเสธบริการแบบถูกกฎหมาย เช่นบริษัทรถเช่า ปฏิเสธลูกค้าอายุต่ำกว่า 25 ปี, สถานฌาปนกิจปฏิเสธแขกที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ได้เชิญ หรือร้านอาหารไม่ต้อนรับลูกค้าที่เคยเข้ามาป่วนในร้าน เป็นต้น

สำหรับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท เหตุผลในการปฏิเสธลูกค้าที่ “เสียงดัง” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ฟังขึ้น

แต่การเหมารวมว่าทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 คือกลุ่มป่วน และปฏิเสธไปแบบเหวี่ยงแหนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก หากถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย นำเรื่องขึ้นฟ้องหมู่ (class action) ร้องเรียกค่าเสียหายในนามลูกค้าต่ำกว่า 18 ปี ขึ้นมา

แถมหากเรื่องถึงศาลขึ้นมาจริง โอกาสที่ อาลิลา มาเรีย บีช รีสอร์ท จะแพ้คดีมีสูงมาก เพราะเคยมีคดีเล็กๆ เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย The Unruh Civcil Rights Act มาแล้วในปี 1983

คราวนั้นเป็นการฟ้องร้องที่รู้จักกันในคดี "ครอบครัวโอ’คอนนอร์ V สมาคมเจ้าของ วิลเลจ กรีน" เกิดขึ้นจากกรณีที่ จอห์นและเดนีส โอ’คอนเนอร์ ซื้อบ้านสองห้องนอนของโครงการวิลเลจ กรีน เฮาซิ่งคอมเพล็คขนาด 629 ยูนิตในย่านบอลด์วิน ฮิลล์ ของแอลเอ ในปี 1975 ก่อนจะมีลูกชาย ชื่อเกวิน ในอีกสี่ปีต่อมา ซึ่งพอมีลูกปุ๊บ ทางสมาคมเจ้าของวิลเลจกรีน ได้ยื่นโนติ๊สให้สองสามีภรรยา ย้ายออก อ้างว่าการมีเด็กเล็กถือว่าละเมิดกฎที่เรียกว่า CC&Rs (Covenants, Conditions, and Restrictions) ที่มีการเซ็นชื่อกันเอาไว้ตั้งแต่ซื้อโครงการ

คดีนี้ลงเอยโดยศาลซูพรีมของแคลิฟอร์เนีย ตัดสินว่าธุรกิจอย่างโรงแรม ไม่มีสิทธิ์นำนโยบายแบบเหวี่ยงแห หรือ blanket policies เพื่อปฏิเสธการให้บริการกับแขกบางกลุ่มอายุ โดยการเหมารวมว่าแขกกลุ่มนั้น “หนวกหู-เอะอะโวยวาย” มากกว่าแขกกลุ่มผู้ใหญ่

การประกาศตัวเป็น “รีสอร์ทสำหรับผู้ใหญ่” ซึ่งมองแล้วน่าจะเป็น “จุดขาย” ที่น่าสนใจของ อาลิลา มาเรีย บีช รีสอร์ท ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะทำให้รีสอร์ทระดับ “ลักชู” แห่งนี้ประสบผลอย่างไร

หากมีการฟ้องร้อง (ซึ่งมีแน่ๆ) และศาลตัดสินว่าทำผิดกฎหมาย The Unruh Civcil Rights Act ขึ้นมาจริงๆ ข้อมูลจากแผนกสิทธิพลเมืองของรัฐฯ บอกว่าธุรกิจจะถูกปรับเป็นเงิน 4,000 ดอลลาร์ต่อแขกหนึ่งคน

เรื่องค่าปรับคงไม่เท่าไหร่ แต่ที่น่ากลัวก็คือกรณีของ อาลิลา มาเรีย รีสอร์ท จะถูกกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ซึ่งมี “เยอะจัด” ในแคลิฟอร์เนีย เอามาโจมตี หรือใช้เป็นเครื่องมือในการ (เว้นไว้ในฐานที่เข้าใจ) อย่างที่ทำกับองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่ง ตั้งแต่สตาร์บัคส์ (ที่ไม่ให้โฮมเลสเข้าร้าน), กะทิชาเกาะ (ใช้ลิงเก็บมะพร้าว) และ ฯลฯ

เราเชื่อว่าอีกไม่กี่อึดใจ เราคงจะเห็นเรื่องเดินไปในแนวทางนั้นแน่นอน...


 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
24-04-2025 ทนายเตือนนักศึกษาไทย อย่าเพิ่งร่วมชุมนุมการเมืองช่วงนี้ (0/90) 
23-04-2025 ตำรวจเตือน “แก๊งตกทอง” เล็งเป้าคนแก่ย่านซานเฟอร์นานโด้ฯ (0/89) 
17-04-2025 เชฟไทยติดโผ “บุคคลทรงอิทธิพล” ของนิตสารไทม์ (0/174) 
17-04-2025 แนะนำ “ไรด์แชร์” ราคาประหยัดของแอลเอ (0/82) 
17-04-2025 นักเรียนต่างชาติในแคลิฟอร์เนียใต้ ถูกยกเลิกวีซ่าเกือบร้อย (0/85) 

แสดงความคิดเห็น

Name :
 
Detail :
 



ฉบับที่
629
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข