แต่ความเชื่อที่กล่าวต่อ ๆ กันมานี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ? นายโอเวน เอมอส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ รายงานว่า เรื่องดังกล่าวคือข้อเท็จจริงที่ล้าสมัยไปนานแล้ว โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯระบุว่า ปัจจุบันมีชาวอเมริกันมากถึง 42% ที่เป็นเจ้าของหนังสือเดินทาง และกำลังมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อปี 1994 มีชาวอเมริกันเพียง 10% เท่านั้น ที่ได้ใช้พาสปอร์ตเดินทางออกไปดูโลกกว้าง แต่ทุกวันนี้มุมมองเรื่องการเดินทางของคนอเมริกันรุ่นใหม่แตกต่างออกไป โดยศาสตราจารย์ลิซา เดลพี เนรอตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก เหตุโจมตีก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 (9/11) ทำให้กฎเกณฑ์ในการเดินทางไปต่างประเทศเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้ชาวอเมริกันจำนวนมากใช่ว่าจะไม่ได้เหยียบย่างออกนอกประเทศกันเสียเลย เพราะการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเช่นแคนาดาหรือเม็กซิโกนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทาง แต่หลังเหตุวินาศกรรมดังกล่าว กฎความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นบังคับให้ผู้เดินทางข้ามแดนทุกคนต้องใช้พาสปอร์ต ทำให้มีจำนวนหนังสือเดินทางอเมริกันที่ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเล่ม ภายในเวลาเพียง 3 ปีหลังจากนั้น
ประการที่สอง การเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ถูกลง ทำให้การเดินทางไกลไปต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายดายมากขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่
เหตุผลประการสุดท้ายที่ทำให้คนอเมริกันครอบครองพาสปอร์ตกันมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องของ "กระแสนิยมในการแสวงหาประสบการณ์" ซึ่งกำลังมาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษหรือมิลเลนเนียล (Millennials) ที่มองว่าการใช้จ่ายเงินเพื่อแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ นั้นดีกว่าการลงทุนซื้อหาข้าวของเครื่องใช้มาเก็บสะสมไว้เสียอีก
"หนุ่มสาวรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวโน้มจะใช้เงินซื้อประสบการณ์ที่สร้างความทรงจำให้กับตนเอง มากกว่าจะเลือกซื้อรถยนต์หรือโซฟาใหม่เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ" ศาสตราจารย์เนรอตติกล่าว
แม้จำนวนร้อยละของชาวอเมริกันที่ถือครองพาสปอร์ตจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับในหลายประเทศ เช่นสหราชอาณาจักรในส่วนของอังกฤษและแคว้นเวลส์นั้นมีผู้ถือหนังสือเดินทางถึง 76% ในปี 2011.