หนังสือพิมพ์ Stuff ของนิวซีแลนด์ เสนอข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2018 ว่าสองนักดำน้ำในออสเตรเลีย คือ ดร.ริชาร์ด “แฮร์รี่” ฮาร์ริส และ ดร.เกร็ค ชาลเลน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภารกิจช่วยเหลือนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงโค้ชเอก นายเอกพล จันทะวงษ์ และสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี่ฯ จะมีรายรับมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการอนุญาตให้สำนักพิมพ์และบริษัทสร้างภาพยนตร์ในอเมริกา นำเรื่องราวของเขาไปเผยแพร่
ข้อตกลงอันนำมาซึ่งรายได้ก้อนโตดังกล่าว มีเอเย่นต์คือ แมทท์ เดลเพียโน่ (Matt Del Piano) แห่งบริษัทครีเอทีฟ ทาแลนซ์ เอเจนซี่ ในลอส แอนเจลิส เป็นคนกลาง โดย แมทท์ เดลเพียโน่ ซึ่งเป็นเอเย่นต์ของนักแสดงชื่อก้องโลกหลายคน เช่น อัล ปาชิโน่, อเล็ก บอลด์วิน, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, ทอมมี่ ลี โจนส์ ฯลฯให้สัมภาษณ์ว่า เขาต้องการให้เด็กไทยกลุ่มนี้ได้รับเงิน เพราะฮอลลีวูดจะต้องนำเรื่องราวที่ถ้ำหลวงมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่
ข่าวบอกว่า ยอดเงินทั้งหมดที่ ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ จ่ายให้กับ ริชาร์ด ฮาร์ริส, เกร็ค ชาลเลน และสมาชิกทีมหมูป่า หากมีการสร้างภาพยนตร์จริงๆ จะอยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะเป็นของ ริชาร์ด ฮาร์ริส และเกร็ค ชาลเลน คนละ 750,000 ดอลลาร์ ที่เหลืออีก 1.5 ล้านดอลลาร์ จะถูกแบ่งในสัดส่วนเท่ากันระหว่างโค้ชเอก และสมาชิกทีมหมูป่า 12 คน
ซึ่งภาพยนตร์เกี่ยวกับภารกิจกู้ภัยที่ถ้ำหลวงของยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์นั้น ข่าวก่อนหน้านี้บอกว่าจะอำนวยการสร้างโดย ไมเคิล เดอ ลูกา และ ดาน่า บรูเน็ตตี้ และจะเน้นเรื่องราว ริชาร์ด ฮาร์ริส และ เกร็ค ชาลเลน เป็น “ตัวเอก” ของภาพยนตร์
ส่วนค่าลิขสิทธิ์ที่สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ชื่อบัลเลนไทน์ บุ๊กส์ (Ballantine Books) ยินดีจะจ่ายให้กับสองนักดำน้ำ และสมาชิกทีมหมูป่านั้น ข่าวบอกว่ามีมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ โดยจะแบ่งเป็นสามส่วนเท่ากันระหว่าง ริชาร์ด ฮาร์ริส, เกร็ค ชาลเลน และโค้ชเอกกับสมาชิกทีมหมูป่า 12 คน
หนังสือพิมพ์ Stuff สรุปด้วยว่า การแบ่งสันปันส่วนดังกล่าว หมายถึงว่า ริชาร์ด ฮาร์ริส และเกร็ค ชาลเลน จะได้รับเงินคนละ 1.083 ล้านดอลลาร์ ส่วนโค้ชเอก และน้องๆ นักฟุตบอลในทีมหมูป่า จะได้รับเงินรวมกัน 1.83 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อแบ่งเป็น 13 ส่วนแล้ว จะโค้ชเอกและน้องๆ นักฟุตบอลแต่ละคนละได้รับเงินประมาณ 140,000 ดอลลาร์ (4,597,600 บาท) ซึ่งข่าวบอกว่าเงินก้อนนี้ มากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของคนไทยถึง 20 เท่า
ข่าวบอกด้วยว่าบรรดาผู้สนใจภารกิจกู้ชีพที่ถ้ำหลวง อันเป็นเรื่องราวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจนั้น จะต้องรออีกระยะ โดยในส่วนของหนังสือที่เขียนจากคำบอกเล่าของนักดำน้ำและสมาชิกทีมหมูป่านั้น ทางประชาสัมพันธ์ของสำนักพิมพ์บัลเลนไทน์ บุ๊กส์ บอกแต่เพียงว่า “หวังว่าจะวางแผงในปี 2019” เท่านั้น
ข่าวบอกว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ของเยาวชนในทีมหมูป่าด้วย ซึ่งอาจมีผลให้การลงนามในสัญญาระหว่างบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์และสำนักพิมพ์กับโค้ชเอกและน้องๆ ในทีมหมูป่า ล่าช้า ซึ่งจะมีผลกับกำหนดวางแผงของหนังสือด้วย แต่คาดว่าหนังสือเล่มนี้จะวางแผงในวันที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบปีของเหตุการณ์อันโด่งดังนี้
นอกจากหนังสือเกี่ยวกับภารกิจกู้ภัยที่ถ้ำหลวง ของสำนักพิมพ์บัลเลนไทน์ บุ๊กส์ ซึ่งจะถ่ายทอดจากปากคำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังมีหนังสือเกี่ยวกับภารกิจกู้ภัยที่ถ้ำหลวงอีกหลายเล่มที่เขียนขึ้นจากข่าว หรือการค้นคว้าข้อมูลสาธารณะ เช่น The Great Cave Rescue เขียนโดย เจมส์ เมสโซล่า วางแผงสัปดาห์หน้า (14 พฤศจิกายน 2018) และ The Cave and The Boys in the Cave มีกำหนดวางแผงในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือสำหรับเด็กอีกอย่างน้อยสองเล่ม คือ Rising Water: The Story of the Thai Cave Rescue โดย มาร์ช อรอนสัน มีกำหนดวางแผงวันที่ 19 มีนาคม 2019 และ All Thirteen: The Incredible Cave Rescue Of The Thai Boys’ Soccer Team ของสำนักพิมพ์แคนเดิลวิค เพรสส์ ผลงานของ คริสติน่า สุนทรวัฒน์ นักเขียนไทย-อเมริกัน (หลานสาวของนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ล่วงลับ).