ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
การละนิวรณ์ 5 ประการ


อุปสรรคสำคัญของการปฏิบัติสมาธิภาวนามีมากมายหลายอย่าง  แต่อุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เข้าถึงความสงบในระดับต่างๆ ที่สำคัญอันครอบคลุม มีเครื่อข่ายขยายเชื่อมโยงกับกิเลสเหล่าอื่นที่จะมารุมเร้าขวางกั้นใจมิให้เข้าถึงความสงบ คือ นิวรณ์ ซึ่งแปลตามตรงว่า เป็นเครื่องกั้น หรือ เครื่องกีดขวางใจมิให้เข้าถึงความสงบ แม้ผู้ปฏิบัติภาวนาหลายท่านเคยได้ฌานมาแล้ว แต่เมื่อใดพลังแห่งนิวรณ์แข็งแกร่งกว่า สามารถทำลายฌานให้เสื่อมลงได้ เช่น พระเทวทัตเคยฝึกฝนจิตใจจนได้ฌานสามารถนำฌานมาแสดงฤทธิ์ได้ แต่พอเผลอใจมิได้สำรวมระวังปล่อยให้ ความเคียดแค้นชิงชังในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาครอบงำใจจนถึงคิดปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้งหลายครา ฌานของพระเทวทัตก็เสื่อมลงอย่างสิ้นเชิง

นิวรณ์ 5 ประการประกอบด้วย

1. กามฉันทะ ความพึงใจในกาม คือ สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร น่าพอใจ

2. พยาบาท ความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้น ที่ตกตะกอนอยู่ในใจ

3. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงา ซึมเซา เซ็ง เบื่อ หน่าย

4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ

5. วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย ไม่แจ่มแจ้งกระจ่างในเรื่องราวต่างๆ

นิวรณ์ทั้งห้าประการนี้ เมื่อเข้าครอบงำจิตใจ จะพบความสงบได้ยาก เพราะจิตใจรับรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง เกิดดับสลับกันไป เมื่อ จิตเกิดดับพร้อมกับนิวรณ์เสมอไปความผ่องใสแห่งใจก็ไม่ปรากฏใจจะเศร้าหมองไปตามลักษณะอาการของนิวรณ์แต่ละอย่างที่เข้าประกอบ นิวรณ์เหล่านี้ เหมือนเครื่องพันธนาการ เหมือนอาการป่วยเรื้อรังทางจิตใจ ในทางตรงกันข้าม หากจิตไม่มีนิวรณ์ครอบงำ จิตจะสะอาดสว่างและสงบ จะนำความสุขมาให้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีละนิวรณ์เอาไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า 73-75 ข้อ 216-225 ดังนี้

ภิกษุประกอบด้วยอริยศีลขันธ์ อริยอินทรียขันธ์ อริยสติสัมปชัญญะและอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า 

เธอละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก(โลกในที่นี้หมายถึง สภาพที่ต้องแตกสลาย กล่าวคือ อุปาทานขันธ์ 5 ได้แก่ ความยึดติดว่า รูป เวทนา สัญญา สังชาร และวิญญาณ มีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์) มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา

ละความมุ่งร้าย คือ พยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้าย คือ พยาบาท

ละถีนมิทธะ (ความหดหู่เซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ 

ละอุทธัจจะกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายในชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากอุทธัจจะกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

พระพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ มหาวิสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ เป็นเลิศในการจัดสรรค์ธรรมะและสถานที่เพื่อจัดการกิเลสทั้งหลายอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ในการจัดการนิวรณ์ทั้งห้านั้นพระพุทธเจ้าทรง ตรัสถึงสถานที่ที่จะปฏิบัติเพื่อขจัดนิวรณ์ ต้องเป็นสถานที่สงัด ตามความเหมาะสม

เมื่อได้พบสถานที่สงัดแล้ว เตรียมกายให้พร้อม คือ บิณฑบาต ฉันภัตตาหารให้เสร็จ จากนั้นก็เลือกจุดที่นั่งสะดวกจากสถานที่สงัดมีโคนไม้เป็นต้น พระองค์ทรงแสดงวิธีนั่งไว้ว่า นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า 

การนั่งเพื่อขจัดนิวรณ์ต้องนั่งขัดสมาธิ การนั่งขัดสมาธิ หรือ นั่งสมาธิทั่วไป กายต้องตรงเสมอ ไม่โยกไปเยกมา ต้องมีสติรู้สึกตัวเสมออยู่ตรงหน้า ไม่ปล่อยสติให้ล่องลอยไปไหน หากเคลื่อนไปที่ใดๆต้องระลึกได้เสมอว่า เคลื่อนไปแล้ว เมื่อระลึกได้กสติอยู่เฉพาะหน้าอีก  การระลึกก็ตาม การกลับมารู้สึกตัวทั่วพร้อมเฉพาะหน้าก็ตาม ล้วนเป็นการทำงานของสติอย่างน่าสนใจ

ในการปฏิบัติเพื่อละนิวรณ์ นอกจากการวางสติไว้เฉพาะหน้าแล้วยังมีธรรมสามัคคีอีกหลายอย่างเช่น อริยสีลขันธศีล อริยอินทรีย์สังวร อริยสติสัมปชัญญะและสันโดษ พระพุทธองค์มักจะทรงแสดงธรรมเป็นชุด เป็นกลุ่ม เป็นอิทัปปัจจยา คือ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น แสดงถึงความจริงว่า ทุกสิ่งถ้ารวมกันได้ล้วนทรงพลัง การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีองค์ประกอบแห่งธรรมมากมายหลายอย่างในการละอกุศลแต่ละอย่าง แน่นอนที่สุดหากธรรมะทั้งหลายได้รับการผสมอย่างสมดุลการละกิเลสย่อมปรากฏขึ้นเมื่อ กิเลสเคลื่อนออกไปจากใจ ธรรมะทั้งหลายเข้าสู่ใจแทน เมื่อธรรมะมีอยู่ กิเลสจะไม่มี อุปมาเหมือน เมื่อแสงสว่างปรากฏขึ้นความืดก็หายไปฉะนั้น เมื่อธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ปรากฏที่ใจ นิวรณ์ทั้งหลายก็จำต้องห่างหายสิ้นไปไม่มีเหลือ เมื่อทราบชัดแล้วจะมอบใจให้กิเลสหรือให้ธรรมะก็ขึ้นอยู่ความแก่กล้าแห่งสติปัญญาของแต่ละคน เป็นความจริงแท้ที่จะต้องประจักษ์ ไม่มีความชั่วเจอปน

วันที่ 6 เมษายน 2564 เวลา 10.44 น.

          ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/3742) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/854) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/814) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/897) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/874) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
619
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข