คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน
2. ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิดและความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คนสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อยๆ ดับตามความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ เก่าลง คนค่อยๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจากเป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัวทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณาให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไรมันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อยๆ สลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา
รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อยๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับเลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ
3. ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขารเมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานาชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวนตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหารราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของมันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจากภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควรจะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป
4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับญาณที่ 3 เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึงไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ 3 เป็นเครื่องพิจารณา
5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้วดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่า ทุกลมหายใจเข้าออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัย เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขารนี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญาความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ 4 มาร่วมพิจารณาด้วย จะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้วนั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้ว เอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็วและชัดเจนแจ่มใสมาก เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารักได้เลย
ข้อมูลจาก “คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” โดย พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน) ติดต่อทางวัดได้ที่ www.watthasung.com หรือวัดจันทาราม (ท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000 โทร. (056) 502–506