ธรรมะจากหลวงพ่อ
ธรรมะจากหลวงพ่อ ตอนที่ 15


 

คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน

          6. มุญจิตุกัมมยตาญาณ

           

                   ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้วจากญาณต้นๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่านให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีสังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหน่าย ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้

                   1)  ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือ ความเกิด

                   2)  ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่

                   3)  ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น

                   4)  อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยาก คือ อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ

                   5)  ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ

                   6)  เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง

                   7)  ผัสสะ มีขึ้นได้  เพราะอาศัย อายตนะ 6 คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ

                   8)  อายตนะ 6 มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ 5 สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาคือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม ท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้งนามว่า นามรูป

                   9)  นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณ ในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ 5

                  10) วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร

                  11) สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรัก ความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ

                   รวมความแล้ว ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา ความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออกด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขารนี้ได้

           

          7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ

                   พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการซ้อนๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา

           

          8. สังขารุเปกขาญาณ

                   ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอก คือร่างกายของคน และสัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่า ธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิตสบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น

           

          9. สัจจานุโลมิกญาณ

                   พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดนของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่า สังขารมีทุกข์ประจำเป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่า เห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ 1 พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัยตัณหา ความทะยานอยาก 3 ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยากทั้ง 3  นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้ จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่า มรรค 8 ย่อมรรค 8 ลงเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ 4 ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิตครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้วิปัสสนาญาณ 9 และอริยสัจ 4 แต่อย่าเพ่อพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไปจนตัดสังโยชน์ทั้ง 10 ประการได้แล้ว นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว

          

(จบวิปัสสนาญาณ และอริยสัจ 4)

 

          ข้อมูลจาก “คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” โดย พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน) ติดต่อทางวัดได้ที่ www.watthasung.com หรือวัดจันทาราม (ท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000 โทร. (056) 502–506

           

 




นำเสนอข่าวโดย : กนกอร เพ็ญรุ่งศศิธร,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
624
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข