ข่าวกีฬา
บทเรียนความคงกระพัน จาก “โรเจอร์ เฟเดอเรอร์”


สำหรับนักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่นักกอล์ฟแล้ว เมื่ออายุล่วงเข้าสู่เลข 3 ถือเป็นช่วงที่กราฟผลงานจะค่อยๆ โค้งลง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับว่าใครจะรักษาสภาพร่างกายและมาตรฐานการเล่นได้ดีกว่ากัน ซึ่งโดยมากแล้ว แม้จะยังคงยืนหยัดแข่งขันกับนักกีฬารุ่นน้องๆ ได้ แต่ก็มักจะไปไม่ถึงจุดสูงสุดนัก

โดยเฉพาะกีฬาเทนนิสชายซึ่งในรายการระดับแกรนด์สแลมต้องเล่นกันถึง 3 ใน 5 เซต แถมเกมเทนนิสยุคนี้เน้นสไตล์พาวเวอร์เกมและตั้งรับ คือตีหนักแต่เน้นเหนียว โต้ลูกที่เส้นเบสไลน์ รอให้อีกฝ่ายพลาด หรือฉวยจังหวะบุกเฉพาะตอนที่มีโอกาสดีๆ เท่านั้น ยิ่งทำให้นักเทนนิสอายุ 30 ปีขึ้นไปที่สภาพร่างกายเริ่มถดถอยลงยิ่งมีปัญหาในการเล่นกับนักหวดรุ่นน้องๆ มากขึ้นไปอีก

แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ อดีตนักหวดเบอร์ 1 ของโลกชาวสวิส ก็สยบทุกเสียงวิจารณ์ เมื่อก้าวไปคว้าแชมป์แกรนด์สแลมคอร์ตหญ้า แบบไม่เสียเซตให้ใครตลอดการเล่น 7 นัด ทำสถิติคว้าแชมป์ชายเดี่ยววิมเบิลดันสูงสุดตลอดกาล 8 รายการ และทำสถิติแชมป์อายุมากที่สุดในยุคโอเพ่นด้วยวัย 35 ปี กับอีก 342 วัน

เป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ “เฟดเอ็กซ์”  หลังจากเมื่อต้นปีเพิ่งคว้าแชมป์แกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น รวมแล้วถึงตอนนี้ในปี 2017 เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ เป็นแชมป์แกรนด์สแลมเสีย 2 รายการ อันดับโลกขยับจากมือ 17 ของโลกหลังจบปีที่แล้วขึ้นมาเป็นมือ 3 ของโลกในขณะนี้ และมีสิทธิจะขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกได้หาก แอนดี้ เมอร์เรย์ มือ 1 ของโลกคนปัจจุบันยังมีปัญหาบาดเจ็บหรือฟอร์มไม่สม่ำเสมอเหมือนในขณะนี้

เรื่องพรสวรรค์และสไตล์การเล่นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เฟเดอเรอร์ยังคงอยู่ยั้งยืนยงในวงการนี้ได้ก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดอย่างแน่นอน ซึ่งเว็บไซต์ มาร์เกต วอตช์เกี่ยวกับธุรกิจและการตลาดได้วิเคราะห์ความ “คงกระพัน” ของเฟดเอ็กซ์เปรียบเทียบคนทำงานทั่วไป กลั่นกรองมาเป็นหลักปฏิบัติน่าสนใจว่าทำอย่างไรเราจะสามารถรักษามาตรฐานการทำงานและประสบความสำเร็จแข่งกับคนรุ่นหลังได้แม้อายุอานามจะล่วงเลยไปไม่น้อยแล้วก็ตาม

อย่าปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรมเกินไป คนทำงานหลายคนตะบี้ตะบันทำงานโดยไม่มีวันหยุดเพื่อมุ่งหวังความสำเร็จ โดยลืมนึกไปว่าการหยุดพักชาร์จไฟเสียบ้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเฟเดอเรอร์หลังตกรอบวิมเบิลดันเมื่อปีที่แล้ว ก็ประกาศหยุดแข่งขันตลอดครึ่งหลังฤดูกาลเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บให้หายขาด

หลังพักไป 6 เดือน เฟเดอเรอร์กลับมาคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น และตัดสินใจหยุดแข่งอีกครั้งช่วงฤดูกาลคอร์ตดินเพื่อให้ร่างกายได้พักแล้วกลับมาฟิตสมบูรณ์จนคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้สำเร็จ

ยอดนักหวดสวิสยอมรับว่า ตอนนี้เขาแก่ตัวลงไปมาก ยิ่งแข่งเยอะๆ ร่างกายก็จะยิ่งล้าหรือเสี่ยงบาดเจ็บมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักพักบ้างเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นนั่นเอง

ทำในสิ่งที่รัก นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่มีความสุขกับกีฬาที่ตัวเองเลือกเล่นก็จริง แต่ถ้าจะมุ่งมั่นก้าวสู่จุดสูงสุด หรือในจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จได้นั้น แค่รักอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะต้องทุ่มเทฝึกซ้อม ดูแลเรื่องโภชนาการ และจัดตารางเวลาทำเรื่องต่างๆ อย่างมีวินัย

บางครั้งต่อให้ร่างกายยังไปไหว แต่ใจอาจจะเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตที่มีข้อจำกัดจนพานอยากเลิกไปเลยก็มี ยกตัวอย่าง บียอร์น บอร์กตำนานนักหวดชาวสวีดิชซึ่งหยุดเล่นไปดื้อๆ ตอนอายุ 26 ปี พอจะกลับมาใหม่ก็ไม่พีคเหมือนแต่ก่อนแล้ว

แต่สำหรับเฟเดอเรอร์ เขาย้ำเสมอว่าที่ยังไม่แขวนไม้เพราะสนุกที่จะได้เล่นเทนนิสและลงแข่งขัน ต่อให้อายุเพิ่มมากขึ้นก็ยังไม่คิดจะเลิกแต่อย่างใด

จัดสมดุลเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัว ชีวิตนักเทนนิสต้องตระเวนเดินทางแข่งขันไปทั่วโลก เฟเดอเรอร์บอกเสมอว่า เขาโชคดีที่เมียร์ก้าภรรยา และครอบครัวเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงร่วมเดินทางไปกับเขาด้วยทุกที่ เมื่อซ้อมหรือแข่งเสร็จ เฟเดอเรอร์จึงมีเวลาทำหน้าที่สามีที่ดีของภรรยาและพ่อที่ดีของลูกๆ ทั้ง 4 คน บางครั้งอาจจะโดนลูกที่ยังอยู่ในวัยซนป่วนเอาตอนอยากพักผ่อนตอนกลางคืนบ้าง แต่ก็เป็นสีสันของชีวิตครอบครัว

เฟเดอเรอร์บอกด้วยว่า ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า ภรรยาเกิดบอกว่าไม่อยากเดินทางไปไหนต่อไหนแล้ว เขาก็คงจะเลิกเล่นเทนนิสอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คนทำงานส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในเรื่องบาลานซ์การทำงานกับชีวิตส่วนตัว ยกตัวอย่างผลสำรวจชีวิตคนทำงานระดับผู้บริหารร่วม 10,000 คน จาก 8 ประเทศ ในปี 2015 พบว่าเกือบครึ่งทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ขณะที่คนทำงานทั่วไป 1 ใน 3 บอกว่ายากจะหาจุดสมดุลระหว่าง 2 เรื่องได้

ใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น คู่แข่งหน้าใหม่ในวงการก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เฟเดอเรอร์ก็ใช้ “อายุ” มาเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับตัวเอง เพราะถึงร่างกายจะถดถอยลงตามอายุ แต่สิ่งที่เขามีมากกว่านักหวดรุ่นน้องๆ ก็คือประสบการณ์และความเก๋าเกม

ยกตัวอย่างนัดชิงชนะเลิศวิมเบิลดันกับมาริน ซิลิชขณะเขาเตรียมเสิร์ฟปิดเกมในเซตที่ 3 เฟเดอเรอร์เกิดอาการประหม่านิดๆ ว่าจะโดนเบรกเกมเสิร์ฟ และอาจเสียเซตนี้ ตอนนั้นเขาจึงบอกกับตัวเองว่า ถ้าปิดเกมเสิร์ฟนี้ได้ จะเป็นครั้งแรกที่เขาคว้าแชมป์วิมเบิลดันโดยไม่เสียเซตให้ใครเลย เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ได้

เมื่อ พอล แอนนาโคนอดีตโค้ชของเฟดทราบเรื่องนี้ เขาถึงกับอุทานออกมาด้วยความแปลกใจ เพราะเฟดในสมัยหนุ่มๆ จะไม่มีวันคิดอย่างนั้นอย่างแน่นอน หมายความว่าเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น วิธีคิดก็จะเปลี่ยนไป และวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่ตัวเองประสบพบเจอมา

ถ้าไม่ปรับตัวก็ตายคนทำงานเมื่อพออายุมากขึ้นมักจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนเฟเดอเรอร์เคยยึดติดกับแร็กเกตแบบเก่า กระทั่งเขาตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้แรกเก็ตแบบใหม่ที่มีหน้าไม้ใหญ่ขึ้นและช่วยให้หวดแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลัง พอปรับตัวกับไม้ใหม่ได้ ฟอร์มที่เคยลุ่มๆ ดอนๆ ก็กลับมาแข็งแกร่ง และยังช่วยให้เขาพัฒนาแบ๊กแฮนด์ที่เคยเป็นจุดอ่อนกลายเป็นอาวุธสำคัญได้เสียอีก

เมื่อปรับตัวได้บวกกับทัศนคติที่เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดถึงตำแหน่งแชมป์หรือมือ 1 ของโลก ทุกวันนี้เฟเดอเรอร์คิดแค่ว่าขอให้ยังเล่นเทนนิสระดับสูงต่อไปได้เรื่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว ส่วนแชมป์ใดๆ โดยเฉพาะถ้วยแกรนด์สแลมที่ได้มาก็ถือเป็น “โบนัส” สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เขายังสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางคู่แข่งคลื่นลูกใหม่ที่ตามหลังมาในแต่ละยุค ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนทำงานทั่วไปได้นำไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน




 




นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : มติชน
05-06-2019 "ควันหลงกีฬาประเพณีแอลเอ-ซานฟรานฯ ครั้งที่ 63" (31/18630) 
05-06-2019 ทีมฟุตบอล (หญิง) ชาติไทยเข้าร่วม FIFA Women’s World Cup ครั้งที่ 8 (1/3543) 
06-06-2018 “ควันหลง” จากการแข่งขันกีฬาประเพณี “คนไทย” ในแคลิฟอร์เนีย ครั้งที่ 62 (0/5837) 
25-04-2018 “วันวาน” การแข่งขันกีฬาประเพณีของ “คนไทย” ในแคลิฟอร์เนีย (0/5237) 
28-02-2018 เกร็ดความรู้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว ครั้งที่ 23 (0/3997) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
623
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข