ก่อนที่ผมจะนำบทความมาเสนอ ขอแสดงความยินดีกับ ทีมฟุตบอล (หญิง)ไทย ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมบอลโลกอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ Canada 2015 ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการฟุตบอลชาติไทยมาแล้ว
เชื่อว่า หลายท่านที่ติดตามข่าว คงจะทราบนะว่า มีลูก-หลานของชนชาวไทยในซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย ซึ่งเคยร่วมทีมซานฟรานซิสโก ในการแข่งขันกีฬาประเพณี แอลเอ-ซานฟราน หลายครั้ง คงรู้จักกันนะคือ “น้อง” สุชาวดี นิลธำรงค์ หลาน “ป้าเพลิน-ลุงวิสุทธิ์ กุนทีกาญจน์” ภายใต้การฝึกสอนของ คุณไพโรจน์ รัตนเถลิงศักดิ์ ได้แสดงผลงานอย่างดีเยี่ยม นับตั้งแต่ ทำประตูชัยชนะต่อทีมไทเป ช่วยให้ทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบในการแข่งขันชิงชนะเลิศ 2018 Women’s Asian Cup ที่จอร์แดน และเป็นการคัดเลือก 5 ชาติ ไปแข่งขันบอลโลก France 2019 ในปีหน้าอีกด้วย
การแข่งขัน Women’s Asian Cup 2018 ที่จบลง “น้อง สุชาวดี” ทำได้ 2 ประตู วันแข่งขันกับจอร์แดน (เจ้าภาพ) มีส่วนช่วยให้ทีมชาติไทยชนะ 6:1 เมื่อจบการแข่งขัน นับว่าเป็นผลดีให้กับทีมชาติไทย ชนะหรือเสมอกับทีมชาติฟิลิปปินส์ ในนัดสุดท้าย ก็จะส่งผลให้ทีมชาติไทย อยู่ใน 4 ทีม ผ่านรอบคัดเลือก บางท่านที่มีโอกาสชมการแข่งขันวันตัดเชือกกับทีมชาติฟิลิปปินส์ จะเห็นว่า “น้อง สุชาวดี” ลงเล่น และ “ใส่พาน” ให้กับ กาญจนา สังข์เงิน ในนาฑีที่ 53 ทำประตูให้ทีมชาติไทย นำไปเป็น 2:0 และจบลงด้วยชัยชนะ 3:1
เชื่อว่าเนื่องในวันการแข่งขันกีฬาประเพณี ครั้งที่ 62 นี้ จะได้แนะนำตัว “น้อง สุชาวดี” ในสนามแข่งขัน แต่เพื่อ “เอาใจ” ชาวแอลเอ จะไม่ให้ “น้อง” ลงเล่นเหมือนปีก่อนๆ
ขอย้อนกลับมาถึงความเป็นมาการแข่งขันกีฬาของ “คนไทย” ในแคลิฟอร์เนีย(เหนือ-ใต้) นับได้จาก สมาคมนักเรียนไทยเมือง Berkeley จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1955 และหลังจาก สมาคมนักเรียนไทยในแคลิฟอร์เนีย(ภาคใต้) ได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 ด้วยความคิดริเริ่มของ “คุณไชย และ พี่น้อย (บุญศิริ) โด-นอม” เสนอให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างสมาคมนักเรียนไทยทั้งสองฝ่ายตามแต่จะตกลงกัน ยังมีบันทึกระบุไว้ว่าการแข่งขัน “ผลัดกันไปมาไม่ทราบว่าปีละกี่ครั้ง” ได้ตกลงว่าควรจะผลัด สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันตั้งแต่นั้นมา ในระยะเวลาต่อมา ได้ตัดคำว่า “นักเรียนไทย” ออกจากชื่อของสมาคมทั้งสองภาค คงเหลือ สมาคมไทยในแคลิฟอร์เนียภาคใต้ และ ภาคเหนือ จนถึงทุกวันนี้
บทความนี้อาจจะเป็นอีก “มุมหนึ่ง” เหมาะกับคำว่า “วันวาน” ของการแข่งขันกีฬาประเพณีของคนไทยในแคลิฟอร์เนีย-ภาคเหนือ และภาคใต้ บทความนี้ นับตั้งแต่ผมเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องการการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) โดยจะกล่าวถึงทางฝ่าย ซานฟรานซิสโกมากกว่า เพราะทางลอสแอลเจลิสอาจจะมีความแตกต่างออกไป พอสรุปได้ดังนี้
:-ที่พักนักกีฬา
คณะนักกีฬาจากแคลิฟอร์เนีย (เหนือ) หลายท่านคงรู้จัก “Cold Water Canyon Resort” หรือ “กุฏิวัดไทยแอลเอ” ซึ่งพวกเราต้องการเรียกให้มีคุณค่ามากขึ้น บางครั้งมีบ้านของคณะกรรมการจัดการหลายแห่ง นอกจากที่พักหลับนอน ยังมีอาหารวัดให้ทานอีกหลายมื้อ แต่ในปี 2017 เรามีโอกาสเข้าพักโรงแรมอันดับหนึ่งที่ลินคอล์นพลาซ่า เมืองมอนเทอเรย์ปาร์ค และเป็นสถานที่จัดงานมอบรางวัลในภาคค่ำ (ปีที่แล้ว) อีกด้วย
:-นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน
ความจริงทีมซานฟรานย่อมเสียเปรียบอยู่แล้ว ในสมัย “รุ่นบุกเบิก” ต้องมีภาระในเรื่องเรียนตามข้อบังคับ นักกีฬาออกเดินทางหลังเลิกงานเที่ยงคืนวันเสาร์ ลงแข่งขันที่แอลเอในวันอาทิตย์ และแอลเอยังมีนักกีฬามากกว่าอีกด้วย ผลการแข่งขัน ส่วนใหญ่แล้ว ก็ต้องร้องเพลง “แพ้เป็นพระ” อยู่เป็นประจำ ในระยะหลัง มีเด็กเติบโตที่นี่ มีพ่อ-แม่ ญาติ พี่น้อง ไม่ต้องกังวลรับภาระมากเหมือนแต่ก่อน เป็นวัยที่แข็งแรงกว่าบรรรดารุ่น “น้าๆ” ในปัจจุบัน (ปี 2017-2018) ทางแอลเอจัดการแข่งขันฟุตบอลลีก (TSL) มีนักบอลที่มีความสามารถมากมาย ย่อมได้เปรียบในการจัดทีมลงแข่ง แต่ทางซานฟรานก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแผน หาชัยชนะจากกีฬาประเภทอื่น
ความเป็นมาในอดีต “ ทีมซานฟราน” ไม่เคยสิ้น “คนดี” มีหลายท่านช่วยพยุงทีมกีฬาของพวกเราต่อเนื่องกันมา หลังจากที่ผมหยุด “บ้า” ลง คุณทิชากร “ไน้ท์” พุทธถาวร เข้ามารับช่วง และยื่นไม้ต่อให้กับ “คุณไพโรจน์ รัตนเถลิงศักดิ์” สำหรับประธานจัดการแข่งขันในปีนี้ คุณเกศกนก รัตตกูล ได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ชาวแอลเอต้องจดจำกับการต้อนรับไปอีกนาน ครั้งหนึ่งทางแอลเอตกลงให้เพิ่ม “บอลหญิง” เข้าร่วมการแข่งขัน อันเป็นผลให้ทีมซานฟราน (จากภาคเหนือ) มีความหวัง “ถ้วยพระราชทาน” มากขึ้น(อาจจะทุกปี)
:-ชุดนักกีฬา
เพื่อเป็นการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้กับสมาคมไทย(ภาคเหนือ) ผมต้องช่วยเหลือ ด้วยการ พ่นสี ติดหมายเลขเสื้อนักกีฬาลงแข่งขันด้วยตนเอง แต่ในปัจจุบัน มีองค์กร ห้างร้าน สปอนเซอร์ เข้ามาช่วยเหลือ สามารถสั่งเสื้อทีมมาจากไทย ยังจะมา “แข่งขันความสวย” นอกจากการแข่งขันอีกด้วย
:-ประเภทกีฬาการแข่งขัน
ในอดีต เคยมีฟุตบอลและบาสเก็ตบอลเป็นกีฬาหลัก ยังมีกีฬาอื่นๆ แบตมินตัน ตะกร้อ และปิงปอง เข้ามาเพิ่ม แต่มีปัญหาจากการจัดหาสนามแข่งขัน คงเหลือกีฬาฟุตบอล (หญิง, ชาย, และอาวุโส) แต่ได้เพิ่ม แชร์บอลหญิงและกอล์ฟ เข้ามาร่วมเช่นเดียวกับปีที่แล้ว นับว่าทำให้งานกีฬาประเพณีมีความคึกครื้นมากขึ้น
:-สนามแข่งขัน
ในระยะแรก ไม่สู้จะเข้มงวดจากเจ้าของสนามมากนัก แต่ต้องจัดการด้วยตนเอง นับตั้งแต่ แบกเสาประตูมาติดตั้ง ติดตาข่าย ตีเส้นสนามด้วยการใช้ปูนขาว (บางครั้งต้องใข้แป้ง All purpose) โรยด้วยมือ หลังจากจบการแข่งขัน ต้องเก็บกวาด แบกเสาประตูเก็บในที่เดิม แต่ในระยะหลัง กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมของคนทั่วไป สามารถทำสัญญาเช่า จ่ายค่าสนาม สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาคมไทย สนามแข่งขัน ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี ไม่มีหลุม มีบ่อ เหมือนกับสมัยก่อน ในปีนี้จะมีขึ้นที่ สนาม Boxer Stadium, (Balboa Park) 166 Havelock street, OFF I-280 & Ocean Avenue, SF, Ca.
:-การรับรองของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
ปรกติ จะมีอาหารกลางวันและเครื่องดื่มมาบริการนักกีฬาและผู้ติดตาม รวมทั้งงานในตอนค่ำ มีการแสดงจากทั้งสองฝ่าย เป็นบรรยากาศที่แสดงความเป็นมิตรซึ่งกันและกัน เจ้าของสถานที่มักจะต้อง “ดับไฟ” เตือนให้ออกตามกำหนด มิฉะนั้น คงจะอยู่กันจนถึงสว่างก็เป็นได้ ขอเก็บเป็นความลับว่า “ซานฟรานเตรียมการแสดงมา เซอร์ไพรซ์” ในงานนี้ด้วย
หลายท่านคงไม่ทราบว่า หลังจากวันแข่งขัน ในตอนเช้าก่อนออกเดินทางกลับ เจ้าภาพเตรียม “อาหารกล่อง” ให้กับ “ทีมเยือน” ติดรถกลับไปทานในช่วงพักกลางทาง เป็นธรรมเนียมทำติดต่อมาหลายปี อันเป็นที่จดจำในมิตรภาพของทั้งสองฝ่ายไปอีกนานแสนนาน
:-บทสรุป
การแข่งขันกีฬาประเพณีครั้งที่ 62 ประจำปี พ.ศ. 2561 สมควรที่จะผ่านพ้นไปด้วยดี นับตั้งแต่ จากการสนับสนุนของสถานกงสุล รวมทั้ง ท่านกงสุลใหญ่ฯ ธานี แสงรัตน์ ลงแข่งด้วย คณะกรรมการสมาคมไทยภาคใต้ ภายใต้การนำของ ท่านนายก จีน่า ปรีชา คงตั้งความหวังว่าจะนำ “ถ้วยพระราชทาน” กลับไปแอลเออีกครั้ง
ความร่วมมือของสมาคมไทยในแคลิฟอร์เนียทั้งสองภาค (เหนือและใต้) ให้การแข่งขันกีฬาประเพณีของพวกเราสืบต่อเนื่องมาจนถึง ครั้งที่ 62 ในปีนี้ นับว่าเป็นที่น่านับถือเป็นอย่างยิ่ง หลายท่านคงไม่ทราบว่า แต่ละปี คณะกรรมการจัดงานทั้งสองฝ่าย จำเป็นต้องทุ่มเท หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่าย ซึ่งมีมากขึ้นทุกปี ต้องขอขอบพระคุณ บรรดาห้างร้าน เพื่อนฝูง นักกีฬา ทุกประเภท ช่วยเหลือ สละ ทุนพรัพย์ แรงงาน เวลา และในปีนี้ก็เช่นกัน มีการจัดงานรวบรวมทุนด้วยการจัดแข่ง “โบลลิ่งสมทบทุนงานกีฬาประเพณี” ในวันที่ 6 พฤษภาคม นี้ หากสนใจช่วยเหลือ ในเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นใด สามารถติดต่อคณะกรรมการจัดการได้ทุกเวลา
สำหรับพวกเรา ชาวซานฟรานซิสโก ก็ยังต้องยึด “หัวหลัก” จาก อดีตท่านนายก (รักษาการ) วัลลภ คชินทร ในช่วงเวลาน้ำลดน้ำท่วม ประธานจัดการแข่งขัน (ไฟแรง) คุณเกศกนก รัตตกูล ประธานกีฬาและอดีตนายกสมาคมไทยภาคเหนือ คุณชยภัคร นิพิฐนรเศรษฐ ประธานฝ่ายเชียร์และการแสดง ครูเล็ก-วลัยพิศ พงศ์ธนานนท์ และคณะกรรมการอื่นๆ ซึ่งไม่อาจจะนำรายชื่อมาเสนอได้ทั้งหมด รวมทั้งนักกีฬา อาวุโส ชาย หญิง เชื่อว่าทุกท่านได้เสียสละเวลา แรงงาน และทุนทรัพย์ เพื่อความสามัคคีในกลุ่มชนชาวไทยในแคลิฟอร์เนีย อันเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชนชาวไทยในเขตอื่นๆ ได้เห็น
ก็ยังมีความหวังและขอเรียนเชิญชนชาวไทยในแคลิฟอร์เนีย(ภาคเหนือ) ได้ไปร่วมกันสนับสนุน ต้อนรับ “เพื่อนเรา จากแคลิฟอร์เนีย –ภาคใต้” ในวันอาทิตย์ ที่ 27 พฤษถาคม ซึ่งเป็นวันหยุดรำลึกทหารผ่านศึก (Memorial Day) ที่สนาม Boxer Stadium, (Balboa Park), 166 Havelock St. OFF I-280 & Ocean Ave, SF., CA 94112
ขอบคุณที่ติดตาม จนกว่าจะได้พบกันอีก
ยงยุทธ
23 เมษายน พ.ศ. 2561