ข่าวการเมืองไทย
‘ยิ่งลักษณ์’มีลุ้น!ลี้ภัย ถึง’จำนำข้าว’เป็นคดีอาญา ขึ้นอยู่ประเทศปลายทางชี้เป็น การเมือง-ทหาร หรือไม่


นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการอาวุโส คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการลี้ภัยในต่างประเทศว่า ปัจจุบันนี้มี พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 มีหลักเกณฑ์หลักๆ อยู่ 2 ประการคือ มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน และแบบไม่มีสัญญา ทั้ง 2 ประการนี้สามารถขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ถ้าเป็นการกระทำความผิดที่ทั้ง 2 ประเทศมีเหมือนกัน แม้จะมีโทษจะต่างกันก็สามารถทำได้ ในการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายร้องขอ สิ่งสำคัญที่สุดคือ มีการกระทำความผิดทางอาญาและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว แต่ต้องยอมรับความจริงว่าถึงแม้ศาลยังไม่พิพากษาลงโทษสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่โดยหลักทั่วไปถ้าเป็นการกระทำผิดอาญา แล้วศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ถึงจะควรที่จะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ประเด็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พอศาลออกหมายจับแล้วเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป 30 วัน การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ควรที่จะต้องรออ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายนก่อน ถ้าศาลอ่านคำพิพากษาออกมาแล้ว กรณีศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ค่อยมาพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วจึงค่อยทำตามขั้นตอนดูว่า ผู้ที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้นไปอยู่ประเทศใด และประเทศดังกล่าวมีสนธิสัญญากันหรือไม่ แต่ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีสนธิสัญญาหรือไม่มีสนธิสัญญา ผู้ประสานงานกลางก็ยังคงเป็นอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงาน โดยใช้วิธีการทางการทูต ถ้าเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาก็จะขอให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าไม่มีสนธิสัญญาก็จะเป็นการขอความร่วมมือผ่านวิธีการทูต ซึ่งหลักเกณฑ์การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเป็นความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาทั่วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เชื้อชาติ หรือการทหาร ตรงนี้จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้

คดีอาญาที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาก็สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ในหลักการปฏิบัติจริงๆ ส่วนมากคดีอาญาที่เป็นคดีการเมืองจะรอให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษก่อน ถึงจะมีการร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ฝ่ายที่ถูกร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนสามารถอ้างได้เสมอว่าเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การทหาร หรือเป็นเรื่องการเมือง ที่ผ่านมาการลี้ภัยทางการเมืองเคยมีการทำบ่อยเหมือนประเทศใกล้เคียงที่มีการขอลี้ภัย อย่างในอดีตสมัยก่อนก็มีการขอลี้ภัยทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

แม้คดีจะเข้าขั้นตอนการขอส่งผู้รายข้ามแดน แต่ก็ไม่ใช่ว่าอัยการสูงสุดจะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ทันที เพราะการจะกระทำได้นั้นจะต้องปรากฏชัดว่าคนที่เราจะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ที่ประเทศใด และคนที่จะบอกได้ว่าบุคคลนั้นอยู่ประเทศใดคือ กระทรวงการต่างประเทศ อัยการสูงสุดหรือตำรวจก็คงไม่รู้ว่าอยู่ที่ประเทศใด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศต้องชี้ระบุว่าตัวจำเลยที่เราต้องการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ที่ประเทศใด มีหลักฐานอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น กรณีที่เป็นการอยู่เพียงชั่วคราวไม่มีหลักแหล่ง ก็ย่อมทำให้เราไม่สามารถติดตามตัวได้ เพราะพอยื่นคำร้องไปตัวก็ไม่อยู่ เนื่องจากการยื่นคำร้องผู้ร้ายข้ามแดนไม่ว่าจะหลักเกณฑ์ใดก็ถือว่าเป็นการใช้วิธีทางการทูตทั้งสิ้น

ดังนั้น การยื่นส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากรู้ประเทศที่ผู้ร้ายข้ามแดนอยู่และมีการยื่นคำร้องไป รัฐบาลประเทศนั้นโดยรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องจะเป็นผู้พิจารณาก่อนว่าสมควรส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นสมควรส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะมีการเห็นชอบให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วให้สำนักงานอัยการของประเทศนั้นเป็นคนยื่นคำร้องต่อศาลในประเทศดังกล่าวเพื่อขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังประเทศที่ร้องขอ ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้วยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดหากมีการอุทธรณ์ แล้วศาลอุทธรณ์มีคำสั่งถึงจะเป็นที่สิ้นสุดให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาได้ ฉะนั้น ในประเด็นที่ว่าตัวจำเลยจะสามารถลี้ภัยในต่างประเทศได้หรือไม่ ก็จะต้องไปพิจารณาในตอนที่ศาลมีคำสั่งว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง เชื้อชาติ หรือการทหาร ที่ไม่ใช่ความผิดทางอาญาทั่วไปหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ถูกขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนย่อมสามารถยกสิทธิตรงนี้อ้างได้ โดยหลักการดังกล่าว ของประเทศไทยก็ใช้ลักษณะเดียวกันเช่นกัน ในกรณีที่ต่างประเทศขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทย

ประเด็นที่ต้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ จะต้องดูวันที่ 27 กันยายน หากลงโทษจำคุก และกระทรวงการต่างประเทศก็ยืนยันว่าตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ประเทศใด ก็จะต้องแจ้งเรื่องอัยการสูงสุด จะต้องตรวจสอบว่า มีหลักฐานพอที่จะสมควรจะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญาทั่วไปมิใช่เรื่องการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา และการทหาร ถ้าไม่เข้าตรงนี้ที่เป็นข้อยกเว้นก็สามารถทำได้ และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงการต่างประเทศจะหาข้อมูลที่อยู่ผู้ร้ายข้ามแดนได้จากที่ไหน นายอรรถพลกล่าวว่า ตรงนี้คงตอบแทนไม่ได้ แต่อย่างในกรณีของนายราเกซ สักเสนา ที่กระทรวงการต่างประเทศมีข้อมูลว่าอยู่ที่ประเทศแคนาดา เมื่อยื่นคำร้องไป ตัวนายราเกซพำนักอยู่ประเทศแคนาดาจริงๆ เลยสามารถนำตัวกลับมาได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องของตำรวจหรืออัยการ แต่ถ้าประชาชนมีเบาะแสก็สามารถแจ้งมาได้ แต่กระทรวงการต่างประเทศยังจะต้องเป็นผู้ยืนยันว่าตัวอยู่ประเทศใด

ถามต่อก่อนหน้านี้เคยได้ยินว่าตำรวจจะต้องเป็นผู้ประสานงานหาจุดพิกัดที่คนร้ายอยู่ในประเทศต่างๆ กับทางตำรวจสากล นายอรรถพลกล่าวว่า เรื่องการประสานตำรวจสากลเป็นเรื่องการประสานขอความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศไทย แต่เวลาการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องใช้วิธีทางการทูตไม่ว่าจะมีสนธิสัญญาหรือไม่มีสนธิสัญญาก็ตาม โดยอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลาง หากตำรวจแจ้งมาว่าอยู่ประเทศใด ทางอัยการสูงสุดก็ต้องถามไปที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะเนื่องจากตอนเรายื่นคำร้องต้องใช้วิธีทางการทูต ไม่ใช่ว่าทางอัยการจะสามารถส่งคำร้องทางตรงไปได้เลย

เมื่อถามว่าคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ถูกฟ้องในเรื่องของการปล่อยปละละเลย การทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะเข้าข่ายลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นการฟ้องความผิดทางอาญาทั่วไป ส่วนจะมีการนำเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไปโยงทางการเมืองหรือไม่ ก็จะต้องดูว่าประเทศที่ได้รับการร้องขอว่าจะพิจารณาอย่างไร แม้ว่าทางเราจะบอกว่าผิดทางอาญาล้วนๆ แต่ถ้าต่างประเทศบอกว่าเป็นการเมืองเขาก็สามารถอนุญาตให้ลี้ภัยได้

ถามต่อว่า หากเป็นเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากศาลลงโทษจำคุก สามารถขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้เลยใช่หรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า เมื่อเป็นไปตามเกณฑ์คือ มีโทษทางอาญา มีเหตุผลให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่ในประเทศใด และมีสนธิสัญญากับประเทศนั้น หรือไม่มี ก็ย่อมสามารถขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ อสส.ก็จะยื่นคำร้องได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานแน่ชัด ส่วนฝ่ายจำเลยจะอ้างเรื่องเป็นการเมืองขอไม่ส่งก็ย่อมกระทำได้เช่นกัน แต่เราจะรู้ได้ว่าคดีเป็นการเมืองหรือไม่ก็อยู่ที่ประเทศที่ได้รับการร้องขอจะพิจารณา ซึ่งเป็นปกติธรรมดาว่าเป็นอำนาจของประเทศนั้น

ยกตัวอย่างคดีนายราเกซ สักเสนา ที่เราขอประเทศแคนาดาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งปรากฏว่าทางรัฐบาลแคนาดายอมส่งผู้ร้ายข้ามแดน และมอบให้อัยการต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ปรากฏว่าในช่วงนั้นประเทศไทยมีการปฏิวัติในปี 2549 ซึ่งก็มีการอ้างเรื่องความปลอดภัย ทำให้ศาลฎีกาของแคนาดาต้องลงมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ต้องรอสถานการณ์ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปกติ ถึงอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมา ทั้งที่ปกติแล้วใช้แค่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น จนภายหลังก็ได้รับตัวนายราเกซกลับมา หรือที่ผ่านมาก็เคยมีคดีการเงินที่เป็นการกระทำผิดประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเราได้ยื่นคำร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งทางการของประเทศอังกฤษก็เห็นสมควรและให้อัยการของประเทศอังกฤษยื่นคำร้องต่อศาลให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ผลปรากฏว่าศาลไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ไม่ผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ ฉะนั้น การที่เขาจะไม่ส่งมีโอกาสเป็นไปได้ ตั้งแต่ระดับบริหาร หรือในชั้นศาล และยังมีกรณีการขอผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายร้องขอแล้วมีบทลงโทษถึงประหารชีวิต แต่หากประเทศที่เราร้องขอไปนั้นไม่มีบทลงโทษประหารชีวิต และเมื่อประเทศไทยได้รับผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาแล้ว จะไม่สามารถลงโทษประหารชีวิตได้ จะลงโทษได้สูงสุดแค่จำคุกตลอดชีวิต แต่เราก็มีกฎหมายกันไว้ว่า จะไปลดโทษไม่ได้ ยกเว้นพระราชอำนาจในหลวงจะพระราชทานอภัยโทษ




 




นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : มติชน
23-10-2019 ‘เผดิมชัย’ดีใจน้ำตาคลอ ชนะเลือกตั้งซ่อมนครปฐม (41/17617) 
06-06-2019 ‘ประยุทธ์’นำม้วนเดียวจบ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย (11/3774) 
27-03-2019 พปชร.เดินหน้าจัดรัฐบาล หนุน’ประยุทธ์’เป็นนายกฯ (49/4005) 
13-03-2019 รายงานหน้าหนึ่ง : ทำไม “มาร์ค” ไม่หนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ (51/4127) 
13-03-2019 กกต.แจงดูเลือกตั้งนอกราชฯ พบปัญหาบ้างแต่แก้ไขทันเวลา (1/2432) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
623
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข