เปิด 10 ข้อ ‘สัญญาประชาคม’ ฉบับคสช. สร้างการรับรู้ประชาชน
คกก.สร้างความสามัคคีฯออกแคมเปญสรุป 10 ข้อ “สัญญาประชาคมสัญญาใจ ไทยทั้งชาติ” สร้างการรับรู้ประชาชน
เมื่อวันที่ 3 กันยายน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปองดองเปิดเผยว่า สัญญาประชาคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่จัดทำขึ้นจากการเปิดกว้างรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และกำหนดเป็นความตกลงของการอยู่ร่วมกัน ไม่ให้เกิดเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้ง ที่ขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต อยู่ระหว่างการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน และสำหรับเอกสารสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองฉบับสมบูรณ์อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ และจะเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้สรุปย่อสาระสำคัญในสัญญาประชาคม ให้ประชาชนสามารถจดจำ ทำความเข้าใจและนำสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ดังนี้ 1.รู้รักสามัคคีร่วมกันสร้างสามัคคีปรองดอง ใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบของกฎหมาย ยอมรับความคิดต่าง เข้าใจประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาด้วยระบบรัฐสภา 2.ยึดมั่นศาสตร์พระราชาต้องพัฒนาตนเอง นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ประกอบอาชีพสุจริตและมีไมตรีจิตต่อกัน 3.ขจัดการทุจริตดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
4.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมแบ่งปันใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันสนับสนุนดูแล คุณภาพชีวิต ด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างเท่าเทียม 5. ดูแลคุณภาพชีวิตทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างเท่าเทียม 6.เคารพกฎหมายเชื่อมั่นและต้องปฏิบัติตามกฏหมาย โดยกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานอย่างอิสระเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ 7.รู้เท่าทันข่าวสารรับรู้ข่าวสารอย่างรอบคอบ ไม่เสนอข้อมูลที่บิดเบือนยั่วยุ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง 8.ยึดมั่นกติกาสากลปฏิบัติตามกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ 9.ร่วมพัฒนาและปฏิรูปประเทศรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ด้วยพลังประชารัฐ สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร และ 10.เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติเรียนรู้ ร่วมมือและสนับสนุนขับเคลื่อนประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ร่วมกันกำหนด ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า ความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อปัญหาสังคมที่มากขึ้นของทุกคน รวมถึงบทเรียนและผลกระทบจากความขัดแย้งอันยาวนานที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญของที่มาแห่งความพยายามร่วมกัน ที่จะเดินหน้าออกจากความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในวันนี้ ซึ่งดูสาระสำคัญของสัญญาประชาคมที่ร่วมกันกำหนดจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเพียงกรอบแนวทางปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ที่เคยมีอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยที่อาจถูกบิดบังหรือเลือนลางไปบ้างจากบริบทความขัดแย้งทางสังคมผ่านมา การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญสู่การปฏิรูปประเทศ จึงต้องการพลังแห่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน สัญญาประชาคมจึงเป็นสัญญาใจไทยทั้งชาติ ที่รอความร่วมมือจากทุกคน ตามบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในการนำประเทศไทยขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป
นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : มติชน