รฟม.จัดงานโปรโมทรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีนบุรี-บางขุนนนท์ หนุนแก้รถติดกทม.
วันที่ 31 สิงหาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จัดงาน“Smart Life by MRT Orange Line เชื่อมสายทาง สร้างคุณภาพชีวิต” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี และเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการ โดยนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ที่ปรึกษา รฟม. รักษาการแทน รองผู้ว่าการ รฟม.(กลยุทธ์และแผน) เป็นประธานการจัดงาน และได้เชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการสนทนาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ประกอบด้วย นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พลตำรวจตรี จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ส่วนที่ 1 นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ส่วนที่ 2 และผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้าง กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 ณ ห้องซาลอน บี โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ที่ปรึกษา รฟม. รักษาการแทนรองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สายทาง 13 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไปตามถนนพระราม 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหงผ่านแยกลำสาลี ตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่ถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี รวมระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร โดยได้เริ่มก่อสร้างงานโยธาตั้งแต่พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม 1.40%(ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560) คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2566 จะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรติดขัดในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก
ทั้งนี้ รฟม.ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ซึ่งเมื่อผนวกรวมแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งสายจะถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพฝั่งตะวันออก ผ่านใจกลางเมือง ไปยังกรุงเทพฝั่งตะวันตก ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเพื่อให้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น รฟม.ได้มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในด้านการส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน รวมถึงความร่วมมือจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล(บช.น.) ด้านจราจร ที่ได้มีการมอบหมายให้สถานีตำรวจในพื้นที่ระดมเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน การกวดขันให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจร การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากความจำเป็นต้องมีการเบี่ยงการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง
นายวิทยา พันธุ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ส่วนที่ 2 กล่าวว่า รฟม.ยึดถือ “ความปลอดภัย”(Safety) เป็นหัวใจของการทำงานในทุกขั้นตอน โดยได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการก่อสร้าง ร่วมกับผู้รับจ้างทุกสัญญา พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Safety Board) และกำหนดมาตรการความปลอดภัย (Safety Plan) เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแผนให้ได้ 100% อันจะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด โดยมีบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้าง เป็นผู้ตรวจสอบ กวดขัน ให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มข้นตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ผู้บริหาร รฟม. จะมีการประชุมร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษาฯ และผู้รับจ้าง เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างและการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย ให้สอดคล้องตามนโยบายการก่อสร้างปลอดภัย 100% หรือ Uncompromised Safety ของ รฟม. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้เส้นทางที่ต้องอยู่ร่วมกันกับกิจกรรมงานก่อสร้าง
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ส่วนที่ 1 กล่าวว่า รฟม. มีการกำกับดูแลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการ โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในแนวสายทาง ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยและมีมาตรฐานในระดับสูง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรม “MRTA Green Constructions” ตามแนวคิด รักษ์โลก ดูแล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายต้นไม้ โดย รฟม. จะประสานงานสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการล้อมต้นไม้ ขนย้ายต้นไม้ไปบริบาลและปลูกในที่ที่เหมาะสมต่อไป ส่วนบริเวณที่ได้รื้อย้ายต้นไม้แล้วนั้น ได้จัดทำแผงผ้าใบพิมพ์ลายต้นไม้บนแนว Barrier เพื่อรักษาทัศนียภาพให้ร่มรื่นตลอดทั้งสายทาง ฯลฯ นอกจากนี้ รฟม. ยังมีแผนจัดกิจกรรม “รฟม. เชื่อมโยงชุมชนเดินตามรอยศาสตร์พระราชา นำพาสังคมสู่ความยั่งยืน” ให้แก่ชุมชนในแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้มาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารเคมี การทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น เพื่อน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ รฟม.มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพและครบวงจร เป็นทางเลือกของการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
นำเสนอข่าวโดย : Kittisuda .,
แหล่งที่มาข่าวโดย : มติชน