รายงานที่ เครือข่ายภาษียุติธรรม หรือ Tax Justice Network (TJN) จัดทำและนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ในดัชนีการปกปิดทางการเงิน หรือ FSI โดยที่มีข้อมูลทางด้านการเงินสำคัญหลายอย่างไม่เป็นที่เปิดเผยทั่วไป อย่างเช่น ความเป็นเจ้าของบริษัทมหาชน, แนวความคิดการจัดทำบัญชีของบริษัทมหาชน , ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์, ข้อมูลจากศาลทางด้านภาษี ฯ
ขณะที่ 10 อันดับแรกในดัชนีปกปิดทางการเงิน คือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ หมู่เกาะเคย์แมน ฮ่องกง สิงคโปร์ ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี ไต้หวัน ดูไบ(ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และ เกาะเกิร์นซีย์ซึ่งเป็นอาณานิคมปกครองตนเองของสหราชอาณาจักร
รายงานของ TJN กล่าวว่าดัชนีนี้ล้มล้างความเชื่อเดิมที่ว่าแหล่งพักเงินเลี่ยงภาษีใหญ่คือเกาะเล็ก ๆ ที่คนจำนวนมากไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หากแต่เป็นประเทศที่ร่ำรวย มีพัฒนาการเศรษฐกิจสูงและเต็มไปด้วยอิทธิพล และทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมความพยายามปราบปรามแหล่งเงินเลี่ยงภาษีเหล่านี้จึงไม่ได้เคยได้ผล นั่นเป็นเพราะประเทศผู้ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินเหล่านี้เป็นผู้ตั้งกฎเองทั้งหมด
TJN เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่มีภารกิจหลัก คือ ตรวจสอบการเลี่ยงภาษีของคนรวย โดยศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF, ธนาคารโลก และข้อมูลจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ
การจัดทำดัชนีนี้อาศัยข้อมูลสองด้านคือ ความรุนแรงของการปกปิดข้อมูลด้านการเงินด้านต่าง ๆ และขนาดของธุรกรรมการเงินนอกประเทศ (ออฟชอร์) ในรายงานประเมินว่ามีสินทรัพย์ด้านการเงินส่วนบุคคลอยู่ราว 21 - 32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (672 - 1,024 ล้านล้านบาท) ถูกนำไปซ่อนในแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อหลีกเลียงการเสียภาษีหรือ เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง
ในขณะที่แหล่งพักเงินหนีภาษี หรือ tax haven ใช้ความได้เปรียบของการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล ดึงดูดเม็ดเงินที่ผิดกฎหมาย หรือเม็ดเงินที่ถูกกฎหมายแต่อาจไม่ถูกจริยธรรม ให้เข้ามา ในแต่ละปี มีเม็ดเงินที่ไหลข้ามประเทศอย่างผิดกฎหมายสูงถึง 1-1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32-51.2ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
รายงานยังระบุด้วยว่าปัญหาที่เกิดจากการเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมหาศาล คือ ชนชั้นสูงร่ำรวยมากขึ้น ขณะที่ประชาชนทั่วไปต้องแบกรับภาระหนี้ของประเทศเอาไว้ ประเทศอย่าง กรีซ อิตาลี และปอร์ตุเกส ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเลี่ยงภาษี และฉ้อราษฎร์แล้วเอาเงินไปซ่อนไว้ตามแหล่งที่ตามหาไม่เจอเหล่านี้
TJN ชี้ว่าอุตสาหกรรม "ซ่อนเงินเลี่ยงกฎหมาย" ในระดับโลกมีผู้เล่นด้วยกันหลายราย นับตั้งแต่ ธนาคารขนาดใหญ่ระดับโลกต่าง ๆ, เจ้าหน้าที่กำกับดูแลที่มีอำนาจตามกฎหมาย, บริษัทบัญชี รวมทั้งผู้ชำนาญเฉพาะ ซึ่งออกแบบและวางแผนการตลาด เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่ต้องการหนีภาษีและหลบหนีเงื้อมมือของกฎหมาย
การแข่งขันระหว่างแหล่งต่าง ๆ ในการดึงดูดเม็ดเงินเหล่านี้เกิดขึ้นราวทศวรรษที่ 1980 และได้กลายมาเป็นบริการสำคัญอันหนึ่งในตลาดการเงินโลกจนปัจจุบัน
เมื่อปกปิดข้อมูลเป็นความลับ แหล่งเลี่ยงภาษีเหล่านี้ได้สร้างความบิดเบี้ยวให้แก่ตลาดการเงินและการลงทุน อย่างมาก รวมทั้งหนุนส่งธุรกรรมที่ผิดกฎหมายนานาให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการโกงภาษี, ฉ้อฉล, หลบเลี่ยงระเบียบกำกับทางด้านการเงิน, ยักยอก, การใช้ข้อมูลภายในเพื่อได้เปรียบในการซื้อขาย, ติดสินบน ฟอกเงิน รวมถึงการฟอกความผิดทางการเมืองด้วย
กลุ่มนี้ได้นำเสนอว่าควรแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ก็คือ ต้องระบุแหล่งที่พักเงินเลี่ยงกฎหมายเหล่านี้ให้ได้อย่างแน่ชัด "และนี่คือเป้าหมายของการก่อตั้งดัชนีนี้ขึ้นมา"
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะนำเอาข้อมูลแหล่งพักเงินและธุรกรรมออฟชอร์มาเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigation Journalist - ICIJ) ที่มีผลงานสำคัญ คือ ปานามา เปเปอร์ส และพาราไดซ์ เปเปอร์ส ที่เปิดเผยว่าบริษัทและบุคคลสำคัญระดับโลกมากมายมีทรัพย์สินพักอยู่ในแหล่งเงินเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็น บริษัทแอปเปิล, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, เจ้าฟ้าชายชาร์ลส หรือแม้แต่นักธุรกิจและนักการเมืองของไทยหลายราย
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าไม่แปลกใจที่ไทยได้รับการจัดอันดับเช่นนี้
"มีความรู้สึกว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ให้สะดวกสบายกับคนรวยแต่ไหนแต่ไร ก็ไม่แปลกที่จะมีข้อสังเกตุเช่นนี้ เพราะเป็นเจ้าของอะไรในประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ .....เป็นประเทศที่เปิดช่องให้เล่นแร่แปรธาตุการถือครองทรัพย์สินอย่างมาก" ดร.สมชัยกล่าว
เขายังกล่าวอีกว่าประเทศไทยนั้นติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คนร่ำรวยสามารถซ่อนทรัพย์สินของตนเองได้ ซึ่งหนทางแก้ไขปัญหาก็คือต้องแก้ไขกฎหมายหลากหลายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองทรัพย์สิน กระจายรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม.