ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อ 16 ตุลาคม ว่า ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าว ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2562) มีปริมาณ 5,354,661 ตัน ลดลง 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 7,269,744 ตัน มูลค่าการส่งออก 90,276.1 ล้านบาท (2,872.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 23.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 117,342.6 ล้านบาท (3,684.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาไทยส่งออกได้ 448,476 ตัน ลดลง 18.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 548,714 ตัน ขณะที่มูลค่าส่งออก 8,437 ล้านบาท ลดลง 12.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2562 มูลค่า 9,607 ล้านบาท จากที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดถึง 1 ล้านตันต่อเดือน ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การส่งออกยังคงซบเซา คาดการณ์ว่าเดือน ก.ย. 2562 จะส่งออกได้ 500,000 ตัน โดยทั้งปีน่าจะส่งออกได้ 8 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 9 ล้านตัน ซึ่งเป็นเป้าที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ 9.5 ล้านตัน (ถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับจากปี 2556 ที่ส่งออก 6.61 ล้านตัน)
“สาเหตุที่ส่งออกลดลงปัจจัยหลักมาจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปีก่อน 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปีนี้ 30 บาทเศษต่อเหรียญสหรัฐ บวกกับราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนามเฉลี่ยตันละ 80 เหรียญสหรัฐ ประกอบกับเวียดนามดัมพ์ส่งออกหลังจากจีนลดนำเข้าข้าวตามชายแดนเวียดนาม เมื่อไม่สามารถส่งขายให้จีนได้เวียดนามจึงหันมาส่งออกแข่งขันกับไทย ที่น่าห่วงไม่ใช่แค่เฉพาะราคาถูกกว่าแต่คุณภาพดีกว่าเท่านั้น แต่เวียดนามมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ หลากหลายจากอดีตมีแต่ข้าวขาว จะกระทบไทยในระยะยาว เช่น ข้าวนางฮวา, ST 21, ST 24, DT 8 เป็นข้าวขาว พื้นนิ่มที่เวียดนามพัฒนาขึ้น ชิงมาร์เก็ตแชร์ข้าวหอมมะลิไทย เพราะราคาข้าวกลุ่มนี้อยู่ที่ 480-600 เหรียญสหรัฐ ถูกกว่าหอมมะลิไทย 400-500 เหรียญ โดยข้าวมะลิของไทยขายตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ”
ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ตอนนี้จะเริ่มเห็นตลาดฟิลิปปินส์ซึ่งเพิ่งจะเปิดเสรีนำเข้าข้าวหันไปซื้อเวียดนามปีนี้ 1.3 ล้านตัน แต่ซื้อไทยแค่ 2-3 แสนตัน จากปกติเคยให้โควตาประเทศละ 3 แสนตัน ส่วนตลาดอิรักนั้น เวียดนามเข้าไปทำจอยต์เวนเจอร์กลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ไปหลายแสนตัน ส่วนไทยแม้จะเจรจาฟื้นตลาดได้คืนมาบ้าง แค่ชิมลาง 10,000-20,000 ตันในปีนี้ และยังต้องแข่งราคากับเวียดนาม ขณะที่ตลาดจีนไม่ได้สานต่อการทำสัญญาจีทูจีกับไทย เพราะมีสต๊อกข้าวกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงแค่ไม่ซื้อ แต่ยังแข่งกับไทยในตลาดแอฟริกาด้วย ภาวะส่งออกเช่นนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อีก 3-5 ปี ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก”
ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีจะมีปริมาณมากขึ้น เพราะนาในพื้นที่ดอนได้รับผลดีจากปริมาณน้ำมาก และอ้อยราคาไม่ดี คนหันมาปลูกข้าวเพิ่ม ทำให้มีข้าวเปลือกมะลิเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตันข้าวเปลือก จากปีก่อน 7.2 ล้านตัน โดยข้าวหอมมะลิแถบ จ.พิษณุโลก พิจิตร หนองคาย จะมีเพิ่มขึ้น ทำให้ทิศทางราคาข้าวเปลือกปรับลดลง.