ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมว่า นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปลายสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าต้นสัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางเจรจาขอคืนสิทธิผลพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้าไทย 573 รายการ กับตัวแทนผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งจะเดินทางมาร่วมประชุม East Asia Summit ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนที่การตัดสิทธิจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563
“ไทยจะใช้ทุกเวทีในการเจรจากับสหรัฐ เราได้ประสานกับทางสำนักงานทูตพาณิชย์วอชิงตัน ดี.ซี. ว่าจะเดินทางไปพบ USTR และยังมีการเจรจาในรอบอาเซียน และภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council : TIFA-JC)ที่สามารถจะเจรจาได้”
ทั้งนี้ การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้เป็นผลจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
“ที่ผ่านมาไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องสหรัฐฯ และมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่สหรัฐฯ แล้ว 5 ประเด็นจาก7 ประเด็น แต่สหรัฐมองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดี (President Proclamation) ระงับสิทธิพิเศษดังกล่าว”
นายกีรติฯ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วการให้สิทธิจเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว โดยประเทศพัฒนาแล้ว และสามารถพิจารณาทบทวนระงับสิทธิได้เป็นระบบปกติเช่นก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่น อียู ก็ตัดสิทธิจีเอสพีไปก่อนแล้ว โดยในส่วนสหรัฐฯ จะมีหลักในการทบทวนพิจารณา GSP กับประเทศผู้ที่ได้รับสิทธิฯ อาทิ ระดับการพัฒนาประเทศ รายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,055 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันไทยมีรายได้ 6,600 เหรียญสหรัฐ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการกำหนดมูลค่าการนำเข้าไม่เกินกฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (Competitive need limitations : CNLs) โดยถือว่าสินค้านั้นมีความสามารถแข่งขันสูงในตลาดสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP ซึ่งกำหนดไว้ 2 กรณี คือ 1) มูลค่านำเข้าสหรัฐฯเกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (โดยให้เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 2) ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ (De Minimis Value) ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2561 เท่ากับ 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายกีรติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐฯให้สิทธิ GSP ทั้งหมด 119 ประเทศ มีการใช้สิทธิประโยชน์สัดส่วน 70% ของการส่งออกรวม ล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกใช้สิทธิจีเอสพี 3,234 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,858 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ผลจากการระงับสิทธิ GSP ทั้ง 573 รายการจากทั้งหมดที่ให้ไทย 3,500 รายการ ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯหรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 40,000 ล้านบาท ไทยยังคงส่งออกไปได้ตามปกติเพียงต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท และในครั้งนี้ไทยยังได้คืนสิทธิในสินค้า 7 รายการ และสิทธิพิเศษในสินค้าโครงการจีเอสพีที่เหลืออีก 2,927 รายการ ”
สำหรับสินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก ร้อยละ 26 ไม่รวมสุขภัณฑ์ และอัตราต่ำสุดคือเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 0.1 สำหรับสินค้าที่ได้คืนสิทธิ 7 รายการ ประกอบด้วย เลนส์แว่นตา เห็ดทรัฟเฟิล โกโก้ เครื่องปรับแรงดัน ปลาดาบ กล้วยไม้ และหนังสัตว์เลื้อยคลาน
อย่างไรก็ดี กรมการค้าต่างประเทศ ได้เชิญผู้ประกอบการหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์และประเมินผลกระทบหากถูกเพิกถอนสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการ หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม (Market Diversification) โดยเฉพาะตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกลาง ฯลฯ และ การใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลง จาก อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทั้งนำเข้าวัตถุดิบและสามารถส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิพิเศษฯทางภาษีได้จากข้อตกลง FTA รวมทั้ง ขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และปรับเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่มตัวสินค้า โดยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการแสวงหาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มาปรับปรุงสินค้า ศึกษาและทำการวิจัย เพื่อพัฒนา สินค้า ให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอแทนการแข่งขันด้านราคาและเพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าในตลาดโลกที่มีการแข่งขันเสรีได้.