ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ประชุมร่วมกัน และยอมปรับแก้เนื้อหาใน 8 ประเด็น ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม สนช. วันนี้ (8 มี.ค.)
ประเด็นที่มีการปรับแก้จากร่างเดิม อาทิ
ระยะเวลาเลือกตั้ง 08.00-17.00 น. (เดิม 07.00-17.00 น.)
ห้ามจัดงานมหรสพในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
อนุญาตให้บุคคลอื่น/กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงแทนคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุได้
ตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการลงสมัคร ส.ส. สมาชิกท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการการเมือง
ไม่กำหนดให้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรค เป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตามมีบางมาตรา ที่ กรธ. ท้วงติงว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่น การเปลี่ยนการกำหนดงบหาเสียงจากเท่ากันทุกพรรค มาแบ่งเป็นให้ตามขนาดพรรคซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม, การยืนยันตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. และ ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่น เป็นระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งประเด็นนี้สมาชิก สนช. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และตั้งข้อสังเกตว่า "เป็นการเลือกปฏิบัติ" และอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพเท่าเทียมกัน แต่สุดท้าย สนช. ก็ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในที่สุด
วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนน 201 ต่อ 1 งดออกเสียง 13 เสียง โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาครั้งนี้ ได้ปรับลดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แสดงความมั่นใจว่า "ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากเรื่องจำนวนกลุ่มไม่ได้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญยังระบุว่าอาจใช้วิธีการอื่นใดหรือการเลือกไขว้ก็ได้ หลังจากสมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการแบ่งกลุ่ม และช่องทางการสมัคร ส.ว. ผ่าน 2 ช่องทางคือ สมัครในนามอิสระ และสมัครโดยองค์กร ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แม้จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลก็ตาม
การผ่านร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเกิดขึ้นหลังแกนนำแม่น้ำ 5 สาย ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยันตรงกันว่าไม่มี "ใบสั่งคว่ำ" ร่างกฎหมายลูก ขออย่าเชื่อกระแสข่าวลือ
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลัง สนช. ผ่านร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ก็จะส่งร่างให้นายกรัฐมนตรี และพักไว้ 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป ทั้งนี้หาก สนช. เห็นว่ามีประเด็นใดขัดหรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สามารถเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ส่งเรื่องให้ประธาน สนช. เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งจะส่งผลให้นายกฯ ต้องชะลอการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ