หากเป็นไปตามแผน บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จะเป็นหนึ่งในบริษัทแรกที่ใช้บริการจรวดปล่อยดาวเทียมแบบใช้ซ้ำได้รุ่น นิว เกลนน์ (New Glenn) ของบลู ออริจิน ที่กำลังอยู่ระหว่างการผลิตและคาดว่าจะพร้อมใช้ได้ในปี 2020
มิว สเปซ เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาโดย นายวรายุทธ เย็นบำรุง วัย 33 ปี ผู้มีประสบการณ์ทำงานให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศและการป้องกันประเทศ Northrop Grumman Corporation ในสหรัฐฯ และวางแผนจะปล่อยดาวเทียมดังกล่าวในปี 2021
มิว สเปซ วางแผนจะให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในพื้นที่ห่างไกล และเพิ่งทำสัญญาทำงานร่วมกันกับบริษัทดาวเทียม SES และ บริษัทอุปกรณ์ดาวเทียมภาคพื้นดิน Hughes นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านท่องเที่ยวอวกาศแห่งแรกของเอเชียในอนาคต
นายวรายุทธกล่าวถึงการทำสัญญากับบริษัททั้งสองแห่งว่า "มิวสเปซ มีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศสามารถติดต่อถึงกันได้" และเชื่อว่าเทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้
เมื่อปี 2014 เขาก่อตั้งบริษัท โมบาย แอลทีอี ในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้ร่วมประมูล คลื่นความถี่ 4G และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร จาก กสทช. เมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
นายวรายุทธ์ ผู้เป็นลูกชายของ พล.อ.วิลาศ เย็นบำรุง อดีตหัวหน้าสำนักงาน ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า เขาลงทุนเปิดบริษัท มิว สเปซ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ด้วยเงินทุนของตนเองและครอบครัว ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามีทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาทและมีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายวรายุทธ์ เย็นบำรุงและนายประภากร สิทธิชัยเกษม
นอกจากนี้บริษัทของเขายังได้ลงนามในข้อตกลงกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ Digital Park ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ 600 ไร่ใน จ.ชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการลงทุนด้านดิจิทัล รวมถึงสร้างสถาบัน Internet of things ในประเทศไทยอีกด้วย
นายเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและประธานผู้บริหารกิจการค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ แอมะซอน เพิ่งถูกยกให้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของโลกประจำปี 2018 โดยนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยทรัพย์สินรวม 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อปี 2004 นายเบซอส ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของซีรีส์เรื่อง สตาร์เทรค ก่อตั้งบริษัทอวกาศชื่อว่า Blue Origin และซึ่งมีเป้าหมายจะนำนักท่องเที่ยวเยือนอวกาศ
"ผมอยากให้คนนับล้านใช้ชีวิตและทำงานในอวกาศ ผมอยากให้เราเป็นอารยธรรมที่ท่องไปในอวกาศ" เขากล่าวกับ Geekwire เมื่อปี 2016
เมื่อปี 2015 บลู ออริจิน สามารถปล่อยและนำจรวด นิว เชเพิร์ด ลงจอดในแนวตั้งได้เป็นครั้งแรกในโลก และหลังจากนั้นก็มีการทดสอบปล่อยจรวดลำเดิมมาใช้ซ้ำอีก 5 ครั้ง ก่อนจะปลดประจำการเมื่อเดือน ต.ค. 2016 และหลังจากว่างเว้นไปกว่าหนึ่งปี บลู ออริจิน ทดสอบปล่อยจรวดอีกครั้ง เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
ส่วนจรวด นิว เกลนน์ ซึ่งสัญญาจะนำดาวเทียมของ มิว สเปซ ขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้านั้น เป็นจรวดรุ่นใหม่ของบลู ออริจิน ซึ่งบางส่วนจะสามารถใช้ซ้ำได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการผลิตในโรงงานในรัฐฟลอริดา และถูกคาดการว่าจะถูกปล่อยครั้งแรกในปี 2020
มีรายงานข่าวว่า นิว เกลนน์ จะใช้เครื่องยนต์ BE-4 ถึง 7 เครื่องและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 7 เมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่กว่า จรวด ฟอลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) ของ อีลอน มัสก์ ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบปล่อยจรวดขั้นต้นเมื่อเดือนที่แล้ว
"เราตื่นเต้นที่จะได้ปล่อยดาวเทียมดวงแรกของ มิว สเปซ พวกเขาจะเป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าดวงแรกที่ได้ขึ้นไปพร้อมกับจรวด นิว เกลนน์" นายบ๊อบ สมิธ ซีอีโอของ บลู ออริจิน กล่าว
เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นายสมิธ ได้กล่าวด้วยว่าภายใน 18 เดือน หรือภายในปี 2019 บลู ออริจินจะพร้อมพานักท่องเที่ยวขึ้นสู่อวกาศ.