…..
พวกเราที่อพยพมาลงหลักปักฐานในเมืองนางฟ้าตั้งแต่ยุค 1950s ได้ช่วยกันคนละไม้ละมือจนชุมชนไทยเจริญเติบโต มีกิจการร้านค้า มีชมรม สมาคมต่างๆ มีวัด มีโบสถ์ มีมัสยิส มีหน่วยราชการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของเมืองไทย
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บรรดาศิลปินนักร้องนักแสดงดังๆ จากเมืองไทย จะเดินทางมาเปิดแสดงให้กับพวกเราในลอส แอนเจลิส ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทยได้รับชมกัน
เริ่มจากเมื่อปี 1974 สมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ โดยนายกฯ นิยม พิณแพทย์ นิติศาสตร์บัณฑิต ได้จัดงาน ”วันธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4“ ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ลอส แอนเจลิส คอนแวนชั้น เซ็นเตอร์ ในดาวน์ทาวน์ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งงานนี้นอกจากมีการประกวดธิดาโดม อันโด่งดังแล้ว สมาคมฯ ยังได้เชิญศิลปินแห่งชาติจากประเทศไทยคือ ”ครูเอื้อ สุนทรสนาน” มาให้ความสำราญด้านเสียงเพลงกับผู้ร่วมงานในปีนั้นด้วย
โดยครั้งนั้น สมาคมฯ ได้รับความอุปถัมภ์เป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับแอลเอ-กรุงเทพฯ จำนวน 3 ที่นั่งจากคุณนงนารถ พูลสิริ สำหรับให้ครูเอื้อ ภริยา และลูกสาว คือคุณอติพร สุนทรสนาน เดินทางมาสร้างความสำราญกับผู้ร่วมงาน ซึ่งมีจำนวนกว่าพันคน
ถือเป็นเป็นครั้งแรกของชุมชนไทยในนครลอส แอนเจลิส ที่ได้มีโอกาสได้พบและฟังเสียงเพลงจากศิลปินระดับบรมครู อย่างครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงเป็นเรื่องที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้
ต่อมาในปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนเป็นนายกสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ เราได้จัดงาน ”วันธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5” ขึ้นที่ลอส แอนเจลิส คอนแวนชั่น เซ็นเตอร์ อีกครั้ง คราวนี้ได้เชิญนักร้องดังอีกท่าน คือคุณชรินทร์ นันทนาคร มาขับกล่อมผู้ร่วมงาน...
จำได้ว่าในการแสดงครั้งนั้น คุณชรินทร์ เริ่มต้นด้วยเพลง “ไกลบ้าน” อันไพเราะเพราะพริ้ง ขนาดทำให้ผู้มาร่วมงานกว่าพันคน มีอาการ “นำ้ตาคลอเบ้า” กันเลยทีเดียว...
ปีนั้น สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ได้รับความอนุเคราะห์เรื่องตั๋วเครื่องบินของศิลปินจากคุณสุชาติ และคุณสายพิณ วิไลดารกา
จากนั้นมาก็เหมือนกับเป็นประเพณี ที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ จะต้องติดต่อเชื้อเชิญนักร้องที่มีชื่อเสียงจากประเทศไทย ให้เดินทางมาร่วมเปิดแสดงในงานวันธรรมศาสตร์ แทบทุกปี เช่น ปี 1976 ได้เชิญศิลปินแห่งชาติ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี, คุณสุเทพ วงศ์กำแหง, คุณพราวตา ดาวเรือง และคุณประเสริฐศรี จันทร์อาภรณ์ โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก คุณสุชาติ คุณสายพิณ วิไลดารกา และบริษัทแอร์สยาม
ปี 1977 ได้เชิญ ศิลปินแห่งชาติ คุณศรีไสล สุชาติวุฒิ และปี 1978 ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ คุณพยงค์ มุกดา
ต่อมา สังคมไทยในแอลเอ เริ่มมีร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ มากขึ้น เช่นร้าน ”เทพรส” บนถนนฮอลลีวูด ของคุณเชาวน์ บูรณะสมบัติ โดยคุณเชาวน์ได้ติดต่อนักร้องชื่อดังจากเมืองไทย ทั้งลูกกรุงและลูกทุ่ง สลับสับเปลี่ยนมาขับกล่อมลูกค้าของทางร้านอยู่ตลอดทั้งปี
นักร้องระดับหัวแถวที่เคยเดินทางมาเปิดแสดงที่เทพรส ก็เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์, ดาวใจ ไพจิตร, อรวรรณ วิเศษพงศ์, ธานินทร์ อินทรเทพ, สุรชัย สมบัติเจริญ, ภัทรา ทิวานนท์, สวลี ผกาพันธ์, ระวิวรรณ สร้อยหงษ์พราย, นันทิดา แก้วบัวสาย, ใหม่ เจริญปุระ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังเกิดมีอาชีพใหม่ คืออาชีพนักจัดคอนเสิร์ต นำนักร้องที่มีชื่อเสียงมาเปิดแสดงเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ตามบ่อนคาสิโน, โรงภาพยนตร์ หรือไนท์คลับ รวมทั้งจัดเป็นมินิคอนเสิร์ตตามร้านอาหารต่างๆ ให้ชาวไทยในแอลเอ และเมืองใกล้เคียงได้ชมกันอยู่เสมอๆ เช่น รวงทอง ทองลั่นทม, มาณี มณีวรรณ, บุษยา รังสี, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ก๊อต จักรพันธ์ อาบครบุรี, ยิ่งยง ยอดบัวงาม, ชาย เมืองสิงห์, อาภาภรณ์ นครสวรรค์, โจนัส แอนด์ คริสตี้, เจิน เจิน, วีระ บำรุงศรี, เท่ห์ อุเทน พรหมมินตร์, บานเย็น รากแก่น, ศรัณญ่า ส่งเสริมสวัสดิ์, เบนซ์ พรชิตา, ต่าย อรทัย, อรวี สัจจานนท์, ไมค์ ภิรมย์ภร, จินตหรา พูนลาภ, นูโว, คาราบาว, คริสติน่า อาร์กีล่า, เจ เจตริน, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ฯลฯ
โดยส่วนหนึ่งของนักร้องดังเหล่านี้ เกิดติดใจสภาพชีวิตที่นี่ ถึงขั้นปักหลักทำงานร้องเพลงตามร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ ที่ยุคนั้นมีอยู่มากมาย เช่น มาม่าไซแอม ปาปาคาเฟ่ ไทยวิลล่า รอยัล อรุณี ไทยทาวน์ เเด๊ดไทย กัปตัน ไทยคิทเช่น ฯลฯ หรือทำอาชีพอื่นๆ อยู่ในอเมริกาเป็นการถาวร เช่น สายัณห์ จันทร์วิบูลย์, อดุลย์ กรีน, กวี ทองปรีชา, ไฉไล ไชยทา, ศวรรณี พัฒนะ, สรรชัย โกรานนท์, วีณา กิจจารักษ์, อเทตยา ประภากุล, พราวตา ดาวเรือง, นิตยา นนท์บุตร, เดอะฮอทเป็ปเปอร์ซิงเกอร์, ปาร์ค แจกัน ฯลฯ
ขอพูดถึงการแสดงคอนเสิร์ตที่ถือได้ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์” ของชุมชนไทยในเมืองแอลเอ สองงาน หนึ่งคือคอนเสิร์ต “สายใยไทยสู่ใจพ่อ” ของคุณเบิร์ด ธงไชย แม็กอินไตย์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 จัดโดยคุณอุษา รัตนไตรภพ ที่ยิมเนเซียมของ ยูเอสซี มีการขนศิลปินรับเชิญมาเต็มเวที ทั้งพิ้งกี้ สาวิกา, ดา เอ็นโดรฟิน, แคทลียา อิงลิช, น้าค่อมและโก๊ะตี๋ .... ถือเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ชุมชนไทยในแอลเอ เคยมีมาเลยทีเดียว
อีกครั้งคือ “ฟรีคอนเสิร์ต” คนไทยหัวใจสิงห์ ของศิลปินสองพี่น้อง “อัสนี-วสันต์ โชติกุล” ที่โนเกียเธียร์เตอร์ คอนเสิร์ตฮอลล์ยักษ์ใหญ่ใจกลางเมืองลอส แอนเจลิส เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2008 งานนี้เบียร์สิงห์ เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ มีคนไทยหลั่งไหลมาจากหลายรัฐ รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่าห้าพันคนเลยทีเดียว
ปัจจุบันนี้ โอกาสที่เราจะได้ชมคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ของศิลปินจากประเทศไทย เป็นไปได้ยาก เพราะความเจริญของเทคโนโลยี ทำให้คนไทยได้ชมข่าวสารรายการบันเทิงจากเมืองไทยแบบใกล้ชิด อารมณ์ “คิดถึงบ้าน” จึงไม่รุนแรง พอจะดึงคนจำนวนมากให้ยอมเสียเงินเสียเวลา มาชมศิลปินในดวงใจ ได้เหมือนในอดีต
แต่ก็ยังคงมีนักร้องหรือนักแสดงจากเมืองไทย เดินทางมาเปิด “มินิคอนเสิร์ต” ตามร้านอาหารทั่วไปอยู่เรื่อยๆ พอให้ร้านอาหารไทยได้คึกคักกันบ้าง
ส่วนบรรดานักร้องดังจากเมืองไทยที่ปักหลักทำมาหากินเป็นนักร้องในแอลเอ นั้น ทุกวันนี้ต่างแขวนไมค์ หันไปประกอบอาชีพอื่นกันหมดแล้ว เพราะความนิยมฟังเพลงตามร้านอาหาร ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของ คาราโอเกะ
ไปกินอาหารตามร้านอาหารที่มีดนตรีในยุคนี้ จึงได้ยินเสียงร้องที่เพราะบ้าง ไม่เพราะบ้างของพวกเรากันเอง มากกว่าจะได้ยินเสียงอันมีเสน่ห์แบบนักร้องอาชีพเหมือนสมัยก่อน....