ตระเวนแอลเอ
แอลเอ แจกเงินคนจน $1,000 ต่อเดือน ยาวๆ หนึ่งปีโดยไม่มีเงื่อนไง





หากท่านใดต้องการเงินด่วน ที่ง่ายและรวดเร็ว นึกถึง QM Advance (Quick Money in Advance)  เงินทุน ธุรกิจไทยในอเมริกา วงเงิน $5,000 - $200,000 อนุมัติเร็ว ได้รับเงินทุนภายใน 24 ชม. ให้คำปรึกษาฟรี ติดต่อคุณนุ๊ก นิวยอร์กที่  310-388-8692  หรือดูรายละเอียดเพิ่มที่ www.qmadvance.com ที่อยู่ 61-43 186th St , Fresh Meadows NY 11365





โดย : ภาณุพล รักแต่งาม


เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า อีริค การ์เซ็ตติ นายกเทศมนตรีของเมืองลอส แอนเจลิส กำลังผลักดันให้เมืองแอลเอ กลายเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของอเมริกา ที่จะ “แจกเงิน” ให้กับผู้มีรายได้น้อย ตามโปรแกรมประกันรายได้ขั้นต่ำ โดยจะแจกคนละ 1,000 ดอลลาร์ ทุกเดือนต่อเนื่องกันยาวๆ หนึ่งปีโดยไม่มีเงื่อนไง


โปรแกรมประกันรายได้พื้นฐานประชาชน ของนายกเทศมนตรีเมืองแอลเอ ซึ่งมีชื่อว่า Basic Income Guarantee program นี้ ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบประมาณ เอาไว้ 24 ล้านดอลลาร์ อยู่ในร่างงบประมาณประจำปี 2021-2022 ของเทศบาลเมืองแอลเอ ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของสภาเมือง 


หากผ่านฉลุยเหมือนที่ทุกฝ่ายคาด แอลเอ ก็จะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของอเมริกาที่มีโปรแกรมช่วยเหลือประชาชนแบบนี้ หลังจากที่เมืองเล็กหลายแห่งได้เริ่มไปแล้ว เช่นสต๊อกตัน เมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ทางตอนกลางของแคลิฟอร์เนีย และคอมป์ตัน เมืองเล็กๆ ทางใต้ของแอลเอ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำร่องที่เมืองเซนต์ปอลล์ มินิโซต้า, ริชมอนด์ เวอร์จิเนีย, พิชช์เบิร์ค เพนซิลเวเนีย และโอ๊คแลนด์ ทางเหนือของแคลิฟอร์เนียด้วย


ถ้าผ่านการลงมติเห็นชอบโดยสภาเมืองแอลเอ ในเดือนมิถุนายน โปรแกรมนี้จะเริ่มจ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนให้กับผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งประเมินว่ามีอยู่ราว 2,000 ครอบครัว ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ 


คำว่า “ไม่มีเงื่อนไข” นี้ขยายความได้ว่าเป็นเงินให้เปล่าโดยไม่คำนึงว่าคุณมีงานทำหรือกำลังตกงาน และให้โดยไม่ใส่ใจว่าคุณจะเอาเงินไปทำอะไร จะไปซื้อข้าวแกง หรือซื้อไอโฟน 12 ก็ไม่ว่ากัน


แต่แน่นอนว่า นายกเทศมนตรีท่านก็อยากให้เอาเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าก้อนนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและครอบครัวมากที่สุด


“เมื่อคุณมอบเงินให้กับคนยากจน มันจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น” นายกเทศมนตรีบอก “มันจะกลายเป็นค่าดูแลเด็ก กลายเป็นอาหารบนโต๊ะ จะทำให้มีเด็กเรียนจบไฮสกูลมากขึ้น และมีคนพบหมอเพื่อตรวจร่างกายมากขึ้น” 


ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย ที่ว่ามีอยู่ประมาณ 2,000 ครอบครัวที่มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าตามโปรแกรมนี้คืออะไร แต่เชื่อว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ เราคงจะทราบรายละเอียดมากขึ้น


โปรแกรม Basic Income Guarantee program ของอีริค การ์เซ็ตติ ก็เหมือนกับโปรแกรมทุกโปรแกรมก่อนหน้านี้ของเขา ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ


เสียงเชียร์ หรือเสียงวิจารณ์ในแง่บวกมาจาก ไมเคิล ทับบ์ อดีตนายกเทศมนตรีของเมืองสต๊อกตัน ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้โปรแกรมประกันรายได้เบื้องต้นแบบเดียวกับที่แอลเอ พยายามจะทำไปก่อนแล้ว โดยไมเคิล ทับบ์ บอกว่าหากทำสำเร็จ เมืองแอลเอ จะกลายเป็นเมืองตัวอย่างของอีกหลายๆ เมืองในการนำโปรแกรมยกระดับชีวิตคนจน ตามไอเดีย “we don’t have to have poverty in this country (เราไม่จำเป็นต้องมีคนจนในประเทศนี้)” มาใช้กันมากขึ้น


“โลกทั้งโลกให้ความสนใจในสิ่งที่แอลเอทำ” ไมเคิล ทับบ์ บอก “การที่นายกเทศมนตรีของเมืองใหญ่เป็นดับสองของอเมริกา ประกาศสนับสนุนโปรแกรมนี้อย่างกล้าหาญแบบนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”


ส่วนเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ ซึ่งน่าจะตรงใจของผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก มาจาก จอน คูเพิล ประธานสมาคมผู้เสียภาษี โฮเวิร์ด จาร์วิส (the Howard Jarvis Taxpayers Assn.) ที่มองว่าการ “แจกเงินแบบฟรีๆ” แบบที่เมืองแอลเอ พยายามจะทำ ก็เหมือนกับการ “ซื้อเสียง” แบบถูกกฎหมายของนักการเมือง


“เมื่อคุณสามารถปล้นเงินของนายปีเตอร์ ไปจ่ายให้นายพอลได้ แน่นอนว่าคุณคอยนับเสียงโหวตของนายพอล ได้เลย” เขากล่าว


นอกจากนี้ การแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่องกันหนึ่งปีเต็มโดยไม่มีเงื่อนไงใดๆ กำกับเช่นนี้ วิพากษ์วิจารณ์กันว่าจะทำให้คนเสียนิสัย เลิกพยายามขวนขวายหางาน หรือตั้งใจทำงานเหยาะแหยะ เพื่อลดรายได้ตัวเองต่ำกว่าเกณฑ์ แล้วคอยรับเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ หรือปีละ 12,000 ดอลลาร์แบบสบายๆ... ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องดีกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมเท่าไหร่นัก


กลัวกันกระทั่งว่าเมื่อทุกคน รวมถึงคนมีประวัติติดเหล้าติดยา สามารถได้เงินก้อนนี้มาแบบง่ายๆ ก็จะทำเอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือกลับไปเสพติดอบายมุขต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ฯลฯ


แล้วเมืองสต๊อกตัน กับคอมป์ตัน ซึ่งเป็นเมืองแรกๆ ในแคลิฟอร์เนีย ที่ลองใช้โปรแกรมนี้ไปก่อนแล้ว ได้ผลเป็นอย่างไรกันบ้าง....


แอลเอไทมส์ เคยรายงานข่าวตั้งแต่ต้นปี 2020 ว่าเมืองสต๊อกตัน เริ่มใช้ทดลองใช้โปรแกรมแจกเงินแบบให้เปล่าและไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แก่ผู้มีรายได้น้อยเพียงแค่ 130 ครอบครัว รายละ 500 ดอลลาร์ทุกเดือน โดยย้ำว่าเป็นการให้เปล่าโดยไม่มีการตรวจสอบหลักฐานการหางาน หรือหลักฐานว่าไม่ติดเหล้าติดยา ที่เรียก่า sobriety requirements ด้วย


ไทมส์บอกว่า จากการติดตามประเมินผลในระยะแรก พบว่ามีผลลัพธ์เป็นบวก คือผู้ได้รับเงินมีสุขภาพดีขึ้น (healthier) มีความเครียดและความทุกข์น้อยลง (less depression and anxiety) มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น และที่ไทมส์บอกว่า “น่าจับตา” ที่สุดคือเงินช่วยเหลือเพียงแค่ 500 ดอลลาร์ มีผลให้สถานภาพทางการเงินของครอบครัวมั่นคงมากขึ้น และทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการหางานเต็มเวลาทำมากขึ้นด้วย


ในส่วนของเมืองคอมป์ตันนั้น ไทมส์ บอกว่าเริ่มใช้โปรแกรมแจกเงินที่เรียกว่า Compton Pledge ไปเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยจ่ายเงิน 300-600 ดอลลาร์ต่อเดือนให้กับผู้มีรายได้น้อยประมาณ 800 ครอบครัวต่อเนื่องกันเป็นเวลาสองปี โดยมีการตั้งงบประมาณเอาไว้มากกว่า 9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทมส์บอกว่าเป็นโปรแกรมให้ความช่วยเหลือแบบไร้ข้อผูกมัดที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาในเวลานี้


เงินดังกล่าวไม่ได้มาจากงบประมาณของเทศบาลเมืองคอมป์ตันทั้งหมด โดยไทมส์ บอกว่าส่วนหนึ่งมาจากสปอนเซอร์ คือกองทุนประกันรายได้ หรือ the Fund for Guaranteed Income ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลของ นิก้า ซูน-ชอง (Nika Soon-Shiong) ลูกสาวของ แพททริค ซูน-ชอง เจ้าของและบรรณาธิการร่วมของหนังสือพิมพ์แอลเอไทมส์ 


โปรแกรมประกันรายได้เบื้องต้น หรือ Basic Income Guarantee program ของเมืองแอลเอ เชื่อว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาเมืองแอลเอ ได้ในเร็วๆ วันนี้นั้น... สยามทาวน์ยูเอส จะติดตามมานำเสนอให้คุณผู้อ่านทราบเป็นระยะ


แต่ขอเสริมนิดนึงว่า แอลเอ ยังได้เดินหน้าโปรแกรมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หรือผู้เดือดร้อนในช่วงวิกฤตโรคระบาดเป็นจำนวนมาก ล่าสุดคือโปรแกรมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมูลค่า 11 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนที่ตัดมาจากงบประมาณของสำนักงานตำรวจแอลเอ ในช่วงที่กระแส แบล็คไลฟ์แมทเทอร์ กำลังเชี่ยวกรากสุดๆ


โดยโปรแกรม 11 ล้านดอลลาร์ที่ว่านี้ จะเน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในย่านเซาท์ แอลเอ และซานเฟอร์นานโด้ แวลเล่ย์ เป็นหลัก โดยในส่วนของเซาท์ แอลเอ นั้น ข่าวบอกว่าจะแจกเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ให้กับครอบครัวเดี่ยว (single parent) จำนวนประมาณ 500 ครอบครัว ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหนึ่งปี เริ่มแจกกันในช่วงซัมเมอร์นี้ ส่วนของซานเฟอร์นานโด้ แวลเลย์ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากมายนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะแจกจ่ายกันอย่างไร


ก่อนจบ ขออนุญาตแนะนำคนไทยในแคลิฟอร์เนีย ให้ลองติดตามเฟสบุ๊กของสภาหอการค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ (ThaiCalChamber) กันเอาไว้ เพราะน่าจะเป็น “แหล่งข้อมูลภาษาไทย เกี่ยวกับความช่วยเหลือของภาครัฐในยามวิกฤต” ที่ดีที่สุดที่คนไทยจะติดตามได้ในเวลานี้แล้ว....


โชคดีทุกคนครับ...

 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข