เคทีแอลเอ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2022 ถึงผลการศึกษาฉบับล่าสุดของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่นำออกเผยแพร่ในวันเดียวกัน พบว่าเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบกับเนื้อเยื่อสมองของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ตาม
โดยทีมนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของคนที่ได้รับเชื้อโควิด-19 กับคนทั่วไป และพบความแตกต่างอยางเห็นได้ชัด
จากการตรวจผลการสแกนสมองชาวอังกฤษ 785 คน วัยระหว่าง 51-81 ปี โดยกว่าครึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟ่า กำลังระบาด โดยผลการสแกนสมองมาจากฐานข้อมูลของ UK Biobank ซึ่งมีข้อมูลย้อนไปถึงปี 2014 หรือช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
โดยผู้ทำวิจัยระบุว่า เมื่อตรวจสอบผลการสแกนสมองของผู้ที่มีอาการเล็กน้อยจากโควิด-19 พบว่า 96 เปอร์เซ็นต์ สูญเสียส่วนที่เรียกว่า gray matter volume เป็นจำนวนมาก และเนื้อเยื่อจะเสียหายมากขึ้นในรายที่มีอาการป่วยหนัก โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อประมาณ 4.5 เดือน
โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง ส่วนใหญ่พบบริเวณที่เกี่ยวกับประสาทรับกลิ่น (sense of smell) และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดกว่าในกรณีของผู้สูงอายุ
ผลวิจัยระบุว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความเปลี่ยนในสมองของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีทฤษฎีที่เชื่อว่า เชื้อโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อสมอง หรือส่งผลให้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำงานด้อยลง โดยเฉพาะประสาทรับกลิ่น
“คำถามหลักต่อไปของเราคือ สมองที่ได้รับความเสียหายที่เห็นได้จากวิจัยฉบับนี้ จะฟื้นฟูได้หรือไม่ในระยะยาว” ผลการวิจัยระบุ.