โดย : ทีมข่าวสยามทาวน์ยูเอส
ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์ ได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกจากกองเชียร์กลุ่มหัวอนุรักษ์อย่างท่วมท้น เพราะเชื่อว่าการได้สัญชาติจากการเกิดแบบไร้ข้อแม้ คือหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญของการลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ซึ่งทรัมป์และพรรคพวกมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในเวลานี้
และจะว่าไป การได้สัญชาติจากการเกิด ไม่ใช่เป็นสิทธิสากลที่ถือปฏิบัติทุกประเทศ ดังนั้นทรัมป์จึงมีแนวร่วมมากมายที่เห็นว่า ในเมื่อประเทศอื่นๆ (รวมถึงไทยแลนด์) หวงแหนสิทธิการเป็นพลเมืองของตัวเองได้ ทำไมอเมริกาถึงต้อง “ใจดี” ไล่แจกสัญชาติให้ใครก็ได้แบบนี้
“การเป็นพลเมืองอเมริกันควรมีมาตรฐานที่สูงกว่านี้” ทรัมป์บอก “ไม่ใช่แค่สามารถมุดรั้วเข้ามา ก็ได้สัญชาติไปครอง”
:-อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลก จริงหรือ?
ทรัมป์เคยพูดเรื่อยเปื่อยตอนหาเสียงว่า อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ให้สัญชาติกับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาเหนือทั้งสองฝั่ง คือทั้งแคนาดาและแม็กซิโก ต่างก็ให้สัญชาติกับเด็กที่เกิดในประเทศแบบไม่มีข้อแม้เหมือนกัน
จริงๆ แล้ว ข้อมูลจากเว็บไซต์ world population review บอกว่ามีถึง 32 ประเทศที่เป็นเหมือนอเมริกา แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม อย่างในอเมริกากลางก็เช่น Belize, Costa Rica, El Salvador, Guatemala, Honduras, Nicaragua และ Panama หรือในคาริบเบียน เช่น Antigua and Barbuda, Barbados, Cuba, Dominica, Grenada, Jamaica, Saint Kitts and Nevis, Saint Lucia, Saint Vincent and the Grenadine และ Trinidad and Tobago และในอเมริกาใต้ ก็เช่น Argentina, Bolivia, Brazil, Chile, Ecuador, Guyana, Paraguay, Peru, Uruguay และ Venezuela
ประเทศที่เหลือ รวมถึงทุกประเทศในยุโรปและเอเชีย ต่างมี “ข้อแม้” ในการให้สัญชาติเด็กที่เกิดในประเทศทั้งนั้น รวมถึงประเทศไทย ที่กฎหมายจะให้สัญชาติเฉพาะเด็กที่มีพ่อ หรือแม่ เป็นคนไทยเท่านั้น
:-เหตุผลของฝ่ายไม่เห็นด้วย
เมื่อปี 2019 สถาบันนโยบายการอพยพ (the Migration Policy Institute) ซึ่งเป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญ (Think tank) ที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง ได้ประเมินว่าในปีนั้น มีเด็กอเมริกันอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึงกว่า 5.5 ล้านคน ที่เกิดในครอบครัวที่อยู่แบบผิดกฎหมาย ถือว่าเด็กกลุ่มนี้มีสัดส่วน 7 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองวัยนี้ทั้งหมดของอเมริกา
เสริมข้อมูลสักนิดว่า สถาบันวิชาการแห่งนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องปฏิเสธสัญชาติของเด็กที่พ่อแม่ไม่ใช่อเมริกัน บอกว่าไม่สามารถยุติปัญหาการลอบเข้าเมืองได้ โดยเคยออกมาเตือนตั้งแต่ปี 2015 ระหว่างที่ทรัมป์ กำลังหาเสียงลงเลือกตั้งครั้งแรกด้วยว่า หากยกเลิก Birthright citizenship จริง จะทำให้จำนวนผู้อยู่อย่างผิดกฎหมาย “ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว” และจะทำให้เกิด “ชนชั้นใหม่” ที่ไม่เคยมีมาก่อน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศด้วย
:-แล้วทำไมอเมริกาถึงให้สัญชาติจากการเกิดแบบไร้ข้อแม้
แม้จะมีคนเห็นด้วยกับแนวคิดของทรัมป์ค่อนข้างเยอะ แต่หลายฝ่ายก็บอกเหมือนๆ กันว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แค่การออกคำสั่งบริหารของประธานาธิบดี (Executive Order) อย่างที่ทรัมป์บอก เพราะการได้สัญชาติโดยการเกิด ถูกระบุเอาไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 (14th Amendment) อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่เคยมีการแตะต้องแก้ไขมานานกว่า 150 ปี
หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง สภาคองเกรสในสมัยนั้นได้รับรองบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 เมื่อเดือนกรกฎาคม 1868 เพื่อให้สัญชาติกับทุกคนทั้งจากการเกิดและการเปลี่ยนสัญชาติ รวมถึงคนดำที่เพิ่นผ่านพ้นจากการเป็นทาสด้วย
โดยสาระของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ระบุว่า
“All persons born or naturalized in the United States, and subject to the jurisdiction thereof, are citizens of the United States and of the State wherein they reside. No State shall make or enforce any law which shall abridge the privileges or immunities of citizens of the United States”
ซึ่งสารานุกรมประวัติศาสตร์สากล: อเมริกา เล่ม 3 โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ แปลไว้ว่า “บุคคลทุกคนที่เกิดหรือแปลงสัญชาติในสหรัฐอเมริกาและอยู่ในบังคับของกฎหมายสหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาและมลรัฐที่มีภูมิลำเนาอยู่ มลรัฐใดจะตราหรือบังคับใช้กฎหมายอันเป็นการลิดรอนเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันที่พลเมืองสหรัฐอเมริกาจะพึงได้รับไม่ได้”
แม้จะถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ข้อมูลบอกว่าบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ไม่ได้รับการแยแสสนใจมากมายนัก โดยประวัติศาสตร์บอกว่าคองเกรสเพิ่งยินยอมให้สัญชาติกับชาวอินเดียนแดง (หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าคนพื้นเมืองอเมริกา) ที่เกิดในอเมริกาในปี 1924 หรือ 56 ปีหลังจากมีบทแก้ไขเพิ่มเติมฯ ออกมา
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เคยท้าทายบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 หลายครั้ง ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือเหตุการณ์ในปี 1896 ที่รัฐบาลปฏิเสธสัญชาติของ หว่อง คิม อาค (Wong Kim Ark) ลูกจีนที่เกิดในซานฟรานซิสโก โดยปฏิเสธไม่ให้เขากลับเข้าประเทศ (หลังออกไปทำธุระต่างประเทศ) อ้างกฎหมาย Chinese Exclusion Act (ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางเพื่อกีดกันแรงงานอพยพชาวจีน ด้วยเกรงเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจ และกลืนสังคมอเมริกัน) ที่มีการบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น
แต่เมื่อ หว่อง คิม อาค นำเรื่องฟ้องศาลสูงสหรัฐฯ ก็ได้รับชัยชนะในปี 1989 ได้รับคืนสัญชาติตามสิทธิที่เขามีตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14
แม้คดีของ หว่อง คิม อาค จะเป็นคดีตัวอย่างที่มีการอ้างถึงตลอดมา แต่บรรดานักกฎหมายฝั่งอนุรักษ์นิยม รวมถึงทรัมป์ มองว่ายังมี “ช่องโหว่” ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ที่หากมีการ “ตีความใหม่” ในยุคสมัยนี้ อาจทำให้สิทธิได้สัญชาติจากการเกิดแบบไร้ข้อแม้ อาจถูก “ยกเลิก” ได้
ช่องว่างที่ว่าอยู่ที่ประโยค subject to the jurisdiction thereof (คนที่อยู่ในบังคับของกฎหมายสหรัฐอเมริกา) ที่อาจตีความใหม่ได้ว่าเป็นการ “ตีกรอบ” เอาไว้เฉพาะผู้ไม่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง จึงไม่ควรได้รับสิทธิตามที่ระบุไว้
:-มีโอกาสที่ทรัมป์จะทำได้สำเร็จหรือไม่
วิธีที่ทรัมป์จะใช้ยกเลิก birthright citizenship นั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน
เขาเคยโพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้บนเว็บไซต์หาเสียงเมื่อปี 2023 ว่า หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะประกาศใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร (executive order) ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน เพื่อบังคับให้หน่วยงานของรัฐบาลกลาง ต้องกำหนดให้ผู้ปกครองอย่างน้อยหนึ่งคน เป็นพลเมืองอเมริกัน หรือมีสิทธิ์อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ลูกที่เกิดมา ได้สิทธิเป็นพลเมืองอเมริกันโดยอัตโนมัติ
ทรัมป์บอกอย่างชัดเจนว่า คำสั่งฝ่ายบริหารของเขานั้น จะประกาศออกมาเพื่อสร้างความชัดเจนว่า “เด็กๆ ที่เกิดจากคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่ควรได้รับหนังสือเดินทาง เลขประกันสังคม หรือมีสิทธิ์รับสวัสดิการบางประการที่มีไว้สำหรับผู้เสียภาษีได้”
การใช้อำนาจฝ่ายบริหารนั้น ฟังดูง่ายมาก แต่อย่างที่รู้กันว่า อำนาจของประธานาธิบดีนั้น ไม่มากพอที่จะคว่ำ หรือฉีกรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งทรัมป์เองก็น่าจะรู้ เพราะหลังชนะการเลือกตั้งแล้ว เห็นได้ชัดว่าเขาระมัดระวังคำพูดมากขึ้น โดยล่าสุด เขาบอกว่าหากใช้อำนาจฝ่ายบริหารแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เขาอาจส่งไม้ต่อให้ประชาชนทำการเรียกร้องผลักดันต่อ (We’ll maybe have to go back to the people) โดยยืนยันว่ายังไงก็ต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ
หากมองจาก “โมเมนตั้ม” ที่หนุนทรัมป์อยู่ในช่วงนี้ ทั้งในสภาคองเกรส ในศาล และจากเสียงส่วนใหญ่ของชาวอเมริกันที่สนับสนุนเขาเป็นประธานาธิบดี ทำให้เชื่อได้ว่าโอกาสที่ทรัมป์จะทำสำเร็จนั้น มีสูงทีเดียว
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เพราะทุกขั้นตอน จะต้องมีการฟ้องร้องเพื่อคัดค้านของกลุ่มต่างๆ มากมาย
และข้อจำกัดของทรัมป์อีกประการก็คือ เขามีเวลาทำงานเพื่อ “กำจัดผู้อยู่อย่างผิดกฎหมาย” อันเป็นภารกิจที่ถือว่า “อันตรายใหญ่หลวง” กับเหล่าอิมมิแกรนท์ทั่วโลก (รวมถึงคนไทย) เพียงแค่สี่ปีเท่านั้น...
เหตุการณ์จะเป็นไปอย่างไร เป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องจับตาดูกันต่อไป…