เมื่อเอ่ยถึงเพชรสีน้ำเงิน หรือบลู ไดมอนด์ (Blue Diamond) หลายคนคงนึกถึง “เพชรโฮป” (Hope Diamond) ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ชื่อเสียงของ “เพชรแห่งความหวัง” ชิ้นนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายร้อยปีขึ้น ร่ำลือกันว่าเพชรสีน้ำเงินน้ำงามดังกล่าวมีอาถรรพณ์จนขึ้นชื่อเป็นเพชรต้องคำสาป ใครก็ตามที่ได้ครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัวมักจะมีอันเป็นไปเสมอ
แต่ในทางธรณีวิทยา เพชรสีน้ำเงินเป็นเพชรที่มีความซับซ้อนและหาได้ยากที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา เผยผลการตรวจวิเคราะห์เพชรสีน้ำเงิน 46 ชิ้น รวมถึงเพชรจากแอฟริกาใต้ที่ขายไปในราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 800 ล้านบาท เมื่อปี 2559 โดยระบุว่า เพชรชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นภายใต้ความลึกอย่างน้อย 660 กิโลเมตรตรงบริเวณส่วนหนึ่งของเนื้อโลกที่อยู่ระหว่างผิวโลกกับแกนกลางตอนล่าง (lower mantle) ในขณะที่เพชรสีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ความลึกประมาณ 150-200 กิโลเมตร ซึ่งการพบเศษแร่เล็กๆติดอยู่ภายในเพชรจะทำให้แกะรอยถึงแหล่งกำเนิดของมันได้
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เพชรคือผลึกคาร์บอนบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากความร้อนและความดันมหาศาล ส่วนเพชรสีน้ำเงินเกิดจากการตกผลึกของคาร์บอนควบคู่ไปกับแร่ธาตุโบรอน (boron) ที่อยู่ในหินก้นทะเลและอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินมานานหลายล้านปีนั่นเอง.