ข่าวคนไทยในอเมริกา
ว่าด้วยแผ่นดินไหวแคลิฟอร์เนีย

สมญา “รัฐแห่งแผ่นดินไหว” ของแคลิฟอร์เนียนั้น ไม่ใช่ได้มาแบบง่ายๆ

ด้วยว่าแต่ละปี สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติ (USGS) ตรวจพบแผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนียระหว่าง 12,000 ถึง 14,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 35 ครั้ง แต่เกือบทั้งหมดเป็นแผ่นดินไหวลูกเล็กๆ ที่ผู้คนแทบจะไม่รู้สึกอะไร

แต่แผ่นดินไหวที่มีความแรงมากกว่า 3.0 แม็กนิทูด ซึ่งถือว่าแรงพอที่ผู้คนในบริเวณใกล้เคียงจะรู้สึกได้ ก็เกิดขึ้นปีละหลายสิบลูกเช่นกัน

ล่าสุดคือแผ่นดินไหวขนาด 4.1 ที่เขย่าเบเกอร์ฟิลด์ เมื่อเวลาประมาณ 15.31 น. ของวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก USGS บอกว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 7.5 ไมล์ ห่างจากเมืองลามอนท์ (Lamont) ในเคิร์น เคาน์ตี้ ออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 15 ไมล์

แม้จะไม่มีรายงานความเสียหายหรือการบาดเจ็บล้มตาย แต่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็รู้สึกได้เป็นวงกว้าง รวมถึงในซานตาคลาร่า, เวนทูร่า และบางส่วนของแอลเอ เคาน์ตี้ ด้วย

ข้อมูลของ USGS บอกว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดของแคลิฟอร์เนียเท่าที่สำรวจได้ เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 1857 ความสั่นสะเทือนวัดได้ถึง 7.9 แมกนิทูด โดยศูนย์กลางฯ อยู่ที่ Fort Tejon ในเคิร์น เคาน์ตี้

แต่แผ่นดินไหวใหญ่ที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงที่สุด เกิดขึ้นในเมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 18 เมษายน 1906 ด้วยความแรง 7.8 แมกนิทูด ส่งผลให้ตึกรามบ้านช่องพังราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษที่ผ่านมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2019 ด้วยความแรงขนาด 7.1 แมกนิทูต แต่เดชะบุญที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในทะเลทรายที่เรียกกันว่า the Ridgecrest/Trona area จึงไม่มีรายงานความเสียหายหรือการบาดเจ็บล้มตายใดๆ

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนีย มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ “รอยเลื่อนใต้ผิวโลก” หรือ faults ที่ยังคงเคลื่อนตัว (active) มากกว่า 500 แห่ง แถมรอยเลื่อนใต้ผิวโลกที่ยังคงแอ๊คทีฟเหล่านี้ ส่วนหนึ่งพาดผ่านเมือง หรืออยู่ใกล้เมืองใหญ่น้อย รวมถึงลอส แอนเจลิส ในรัศมีไม่เกิน 30 ไมล์เท่านั้น

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชาวแคลิฟอร์เนียในการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับแผ่นดินไหวใหญ่ ที่ว่ากันว่า “พร้อมจะเกิดขึ้น” ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมน้ำและเสบียง แผนอพยพ หรือจุดนัดพบของครอบครัวในกรณีโทรศัพท์หรือการสื่อสารอื่นๆ ถูกตัดขาด เรื่อยไปจนถึงรู้ว่าจะปิดน้ำ ปิดแก๊สที่ไหน ฯลฯ

และที่สำคัญคือต้องรู้หลักการเอาตัวรอดขณะเกิดแผ่นดินไหว ที่เรียกว่า Drop! Cover! Hold on!

ท่านใดที่ต้องการข้อมูลจำเป็นเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมก่อนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ USGS (คลิก)




 




นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
01-10-2024 “หมูเด้ง” ช่วยอเมริกา “รณรงค์ตรวจโควิด-ใช้คาร์ซีท” (0/201) 
01-10-2024 เปิดศูนย์หลบร้อนฉุกเฉินทั่วแอลเอ รับ “ฮีทเวฟ” เดือนตุลา (0/64) 
01-10-2024 นิวซัมลงนามกฎหมาย “ขายเหล้าถึงตีสี่” (0/52) 
30-09-2024 ข่าวดีคุณปู่คุณย่า! ดีเอ็มวีเลิก “สอบข้อเขียน” คนอายุ 70 แล้ว (0/197) 
26-09-2024 ตำรวจขอข้อมูล “กลุ่มวัยรุ่น” ปั่นจักรยานปล้นเซเว่นในแอลเอ (0/143) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
619
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข