ดูโลก ดูธรรม และดูใจ
โดย ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา
ความทรงจำสมัยเรียนบาลีวัดขันเงิน ตอนที่ 7 ร่วมมือ ร่วมใจ ประทับใจ


ตอนที่ 6 ได้เล่าถึงภัตตาหารเพลของมหาชน อาหารเพลแต่ละมื้อที่จะได้ถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีวัดขันเงิน มาจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจและร่วมร่วมบริจาคของพุทธศาสนิกชนนับไม่ถ้วน เป็นอาหารเพลของมหาชนมาถวายมหาสังฆทาน เป็นอาหารที่ทรงคุณค่าแก่พระภิกษุสามเณรทุกรูป ที่รอคอยว่า ในหนึ่งวันมื้อเพลนี่แหละเป็นมื้อที่พอจะอิ่มท้องโดยไม่ต้องวิตกกังวล แม้ว่ากับข้าวขนมหวานหรือผลไม้ จะไม่มีเหลือเฟือ แต่ข้าวสุกมีมากพอที่จะฉันกันแบบสบายๆ พวกเราสามเณรกำลังเป็นหนุ่มจะฉันข้าวสุกกันมากๆ สามเณรจะฉันข้าวกันมื้อละไม่ต่ำกว่าสามจาน พวกเราโตมาจากชนบทมีค่านิยมที่ไม่กินกับข้าวมากนัก แต่เน้นกินข้าวเพราะถูกสอนมาว่า ถ้ากินกับข้าวมากจะเป็นตาลขโมย การกินข้าวมากจะทำให้มีกำลังดี เพราะพวกเราต้องใช้แรงงานในท้องนาท้องไร่

พระภิกษุสามเณรไม่เคยกังวลว่าจะมีกับข้าวฉันมากน้อยเพียงใด ขอให้มีข้าวก็พอ ด้วยสภาพที่ฉันข้าวกันง่ายๆ หากได้กับข้าวสักถ้วย เช่น แกงส้ม(แกงเหลือง)หรือแกงเผ็ด ก็จะแบ่งปันกันอย่างทั่วถึงโดยนิยมนำเอาน้ำแกงมาราดข้าว ไม่ค่อยสนใจเนื้อหรือปลากันมากนัก เมื่อเป็นสามเณรโตสอบได้เปรียญธรรม 4-6 ประโยคแล้ว ได้เข้ามาช่วยงานในครัวตามวาระ ในฐานะลูกน้องพ่อหลวงหมาน(พระครูพัฒนวีรพงศ์) และช่วยงานป้าทัย พ่อหลวงหมานจะจัดการรอบนอกครัว ส่วนป้าทัยจัดการกับข้าว ครกหินตำเครื่องแกงใบใหญ่สากหินหนักๆ ป้าแก่แล้วพวกเรากำลังหนุ่ม ป้าเตรียมเครื่องแกงเป็นพริก กะเทียม หอมหรือวัตถุดิบอื่นๆพร้อมแล้วพวกเราก็ลงแรงตำกัน เมื่อตำเสร็จป้าก็จะนำหม้อแกงขนาดใหญ่ขึ้นวางบนเตาไฟ ต้มน้ำจนเดือด ตักเครื่องแกงใส่ลงในน้ำที่กำลังเดือดเต็มที่ จึงค่อยใส่ปลาและผักลงไป เพราะเข้าไปช่วยงานในครัวอย่างใกล้ชิดนี่เอง จึงทราบว่า บางคราวได้ปลาทูสดมาจากตลาดเพียง2 กิโลกรัมแกงส้มใส่ผักลงไปมากๆ คล้ายๆคำที่เขาแซวกันว่า แกงมะละกอใส่วิญญาณปลาทู แกงเผ็ดฟักทองใส่วิญญาณหมู 

ความจริงแม้ว่าปลาจะน้อย เมื่อเทียบอัตราส่วนพระภิกษุสามเณร 70 กว่ารูปกับปลาทู 2 กิโลกรัม แต่ฝีมือแกงส้มของป้าทัยยอดเยี่ยมมาก น้ำแกงอร่อย จึงไม่มีใครจะค้นคว้าหาปลากันสักเท่าไร ขอเพียงน้ำแกงผักราดข้าวโชกๆเราก็ฉันกันอย่างมีความสุข

มะละกอและผักบุ้ง เป็นผักที่หาง่าย ที่วัดขันเงินมีดงผักบุ้งอยู่หลายจุดมีมะละกอหลายต้น วันไหนป้าทัยไม่ได้ผักมาจากตลาดก็ไม่ต้องห่วง ลูกเณรทั้งหลายก็จัดการเก็บผักบุ้งและมะละกอกันทันทีทันใดทันใจ เรื่องผักบุ้งและมะละกอนั้นไม่ใช่เป็นผักประจำสำนักเรียนบาลีวัดขันเงินเท่านั้น แต่ได้ทราบจากท่านอาจารย์พระธรรมโกศาจารย์เคยคุยให้ฟังเรื่องชีวิตนักเรียนบาลีที่อื่นที่ท่านเคยเยี่ยมเยือนมาแล้วท่านพูดเป็นกลอนว่า สงขลาผักบุ้ง พัทลุง ลอกอ หรือ มะละกอนี่แหละ เป็นอันว่า อาหารหลักประจำสำนักจะคล้ายๆกัน 

นอกจากลูกเณรน้อยและเณรโข่ง จะทำหน้าที่ช่วยงานหุงข้าวตำเครื่องได้อย่างดีแล้ว บางรูป ป้าทัยวางมือให้แกงได้ แกงหลักๆที่ทำกันก็แกงเผ็ดแกงส้มหรือแกงเหลืองนี่แหละ อาหารจำพวกผัดทอด ไม่ค่อยได้ทำกันเพราะจะเสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากร ทั้งแกงส้มแกงเผ็ด สามารถนำผักบุ้งกับมะละกอมาปรับใช้ได้อย่างลงตัว พวกเราเติบโตมาด้วยอาหารผักออแกนิค และอาหารผัก 80 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนน้อยมาก

นอกจากนี้หลวงพ่อเจ้าคุณและพระธรรมโกศาจารย์ยังสนับสนุนให้สามเณรน้อยและที่กำลังเป็นหนุ่มได้รีดความเป็นหนุ่มออกด้วยการฟันดินปลูกผัก แปลงผักของพวกเราอยู่ในทอน หลังกุฏิหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์หรือท่านอาจารย์พระมหาองอาจนั้นแหละ ท่านอาจารย์มีคารมคมคายมักจะบอกว่า มาลูกเณร มารีดพิษความเป็นหนุ่มออกด้วยการขุดหัวอ้อ กล่าวคือ ในทอนนี้พอฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมทุกปี พอน้ำแห้ง ต้นอ้อจะขึ้นเต็มไปหมด พอน้ำลดหมดแล้วย่างเข้าหน้าร้อนก็จะเริ่มถางอ้อ เผาต้นอ้อที่แห้งได้ที่ งานที่เหลือก็ต้องขุดหัวอ้อ เพื่อเตรียมดินให้ร่วน ขี้เถ้าทั้งหลายจากการเผาก็เก็บไว้รองหลุม ฤดูปลูกผักชาวสวนแถวนั้นก็มาขอพื้นที่ในวัดปลูกผักกันด้วย การปลูกผักจึงสนุกสนานไปเลยทีเดียว บ้างก็ปลูกผัก บ้างก็ขนน้ำมาช่วยกันรด ยามผักโตพอสมควร ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย จำได้ว่า ท่านอาจารย์พระมหาองอาจของพวกเรา แนะให้นำปุ๋ยมนุษย์ที่เก็บไว้ในถังซีเมนต์หลังส้วมซึมสมัยก่อน ขึ้นมาแล้วผสมด้วยน้ำในอัตราส่วนหนึ่งกระป๋องต่อน้ำหนึ่งบัว(ถัง) 

ครั้งแรกไม่กล้าทำเหมือนกัน แต่พอเปิดดูจริงๆ ไม่มีอะไรน่ากลัว เป็นน้ำสีดำๆ ตักน้ำนั่นแหละมาผสมน้ำรดผัก ไม่ว่าผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักคะน้า งามอวบสวย แต่ละปีได้ผักจำนวนมากเลี้ยงพระ-เณรทั้งวัดไม่หมด ญาติโยมคนไหนมาเยี่ยมวัดก็ตัดแจกไปเรื่อย โยมไม่ทิ้งพระ พระก็ไม่ทิ้งโยม เนื่องจากผักกาดขาวสวยงามเป็นพิเศษ แต่ละต้นงาม น่าจิ้มน้ำพริก หรือ ทานแกล้มอะไรสดๆ เมื่อญาติโยมรับไปแล้ว ต่างกลับมาบอกคุณภาพผักว่า ผักลูกเณร หวานกรอบจริงๆ ทานสดๆดีมาก พวกเราผู้ผลิตก็ภูมิใจที่ญาติโยมได้มีโอกาสลิ้มรสผักที่ปลูกตามธรรมชาติแท้ๆแบบพระธรรมจัดสรรค์สามเณรปลูก

นอกจากนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่มาช่วยส่งเสริมอาหารเพล เช่นคุณนายวิมล เศรษฐภักดี ปวารณา ถวายข้าวสารอย่างพอเพียงเป็นประจำ นั่น คือไม่ต้องนับว่า เดือนละกี่กระสอบ ข้าวสารหมดเมื่อไร ป้าทัยแจ้งให้ทราบ ก็จะมีคนมาส่งข้าวสารถึงที่ สามเณรที่กำลังโตกำลังฉันทั้งหลายสบายใจได้ อย่างน้อยมีข้าวฉันแน่ๆ นอกจากจะมีข้าวเป็นอาหารหลัก เวลาชาวปากน้ำหลังสวนมากราบพ่อหลวงเจ้าคุณพระราชญาณกวี ก็มักจะนำเอากะปิ น้ำปลา ปลาเค็มมามอบให้ป้าทัยเก็บไว้ในโรงครัว อาหารหลักคือ กะปิน้ำปลา เกลือ มีอย่างพอเพียง 

หลังชาวปากน้ำกลับไปแล้วอาหารมื้อต่อมาก็เป็นแกงส้มปลาเค็ม แกงเทโพ ปลาเค็ม แกงทุกอย่างที่ใช้ปลาเค็มเป็นเครื่องปรุง เมื่อได้น้ำปลามาหลายไห ป้าทัยใจดีจะบอกลูกเรณว่า ใครจะทำน้ำปลาพริก กระเทียม มะนาวใส่ขวดไว้ฉันก็ได้ ป้าจะแจกน้ำปลาให้สามเณรสองถึงสามขวด แล้วก็นำพริกเขียวพริกแดงจากในแปลงผักที่กำลังสุกหรือกำลังเขียวขจี มาเด็ดใส่ลงในขวดน้ำปลาหรือขวดกระเทียมดอง หรือ ขวดโหล แล้วดองก็ไว้ เครื่องปรุงง่ายๆก็แค่น้ำปลา พริก กะเทียม มะนาว ทำแบบนี้แล้ว เวลาฉันได้ข้าวสวยร้อนๆ นำน้ำปลามาคลุกข้าวร้อนๆ สามจานผ่านไปด้วยความเอร็ดอร่อยเสมอ

นอกจากนี้ ถ้าชาวเขาแงน ชาวปังหวานมาเยี่ยมพ่อหลวงเจ้าคุณฯ ก็จะนำผักสดๆจากไร่จากสวนมาเข้าครัว ถ้าได้ฟักทองฟักเขียวแตงกวา  ก็จะได้เปลี่ยนจากผักบุ้งและมะละกอบ้าง โดยเฉพาะฟักทอง ทำได้หลายอย่างรวมทั้งได้ผัดบ้าง เพราะผัดฟักทองประหยัดมาก ไม่ต้องใส่หมู แค่ใส่น้ำมันน้ำปลาและไข่ปรุงรสให้กลมกล่อมก็ฉันได้ดี เจริญอาหารดีเช่นกัน

แม้เราจะมั่นใจว่า ไม่อดอาหารเพลแน่นอนแล้ว แต่อาการที่สื่อส่งสัญญาณว่าฝืดเคืองก็มาเยือนบ่อยๆ เช่น คราวหนึ่ง หลวงพ่อไม่ได้นำเงินมาให้ป้าทัยไปจ่ายตลาด พวกเราปรึกษากันว่าจะหาทางออกอย่างไรดี นึกขึ้นมาได้ว่า มะขามอ่อน หน้ากุฏิพ่อหลวง กำลังออกพอดี จึงบอกว่า วันนี้เราตำน้ำพริกมะขามอ่อนกันดีกว่า กะปิน้ำปลาเกลือมีพร้อม ป้าทัยเห็นชอบด้วย สามเณรอีกชุดหนึ่งไปเก็บผักบุ้งยอดสวยๆล้างให้สะอาด หุงข้าวเสร็จแล้วตักใส่หม้อใส่สำรับพ่อหลวงฯ อาหารในสำรับวันนั้นมีผักบุ้งกับน้ำพริกมะขามอ่อนเท่านั้น

พวกเราสงสารพ่อหลวงฯจับใจ วันนี้ไม่มีใครจากตลาดมาทำบุญเลย ปลอดผู้ปลอดคนจริงๆ เมื่อเข้าไปประเคนพ่อหลวงฯเสร็จก็มานั่งฉันร่วมกัน พวกเราไม่เป็นไรฉันกันสบายๆ ข้าวสวยร้อยๆคลุกน้ำพริกมะขามอ่อนไม่อั้น แกล้มผักบุ้งสดๆ ขณะเดียวกันพวกเราก็แอบมองพ่อหลวงฯด้วยความสงสาร ไม่มีแกงจือดซดแม้แต่หยดเดียว แต่พ่อหลวงฯฉันด้วยความเจริญอาหารเหมือนกับพวกเราจนผักบุ้งในสำรับหมด พอเสร็จแล้วท่านยังนั่งอยู่จึงเข้าไปคุกเข่าจะรับสำรับไปล้าง ท่านคงเข้าใจความรู้สึกของพวกเราดี ท่านพูดว่า วันนี้ฉันอาหารได้มากเป็นพิเศษ นานๆได้ฉันผักสดกับน้ำพริกมะขาม ดีมากๆ

คำพูดของท่านเติมพลังใจให้พวกเราได้มาก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ตระหนักข้อความที่ว่า  อิ่มๆด้วยกัน อดๆด้วยกัน แต่วันนี้ก็ร่อยกันทั่วหน้านั่นแหละ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ พ่อหลวงเจ้าคุณฯเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ทำให้ดูอยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสจริงๆ ความเมตตาของท่านที่มีต่อลูกพระลูกเณรทุกรูป ทำให้รู้สึกอบอุ่น เป็นแรงบันดาลใจแห่งการประพฤติพรหมจรรย์และพัฒนาตนอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย 

ความเมตตา มีน้ำใจของพุทธศาสนิกชนที่เอื้อเฟื้ออุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประทับอยู่ในความทรงจำไม่มีวันลืม เราเป็นพระของประชาชน โดยประชาชนที่เลี้ยงดูมา ต้องใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณและเปลื้องหนี้อันศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนทุกคนผู้มีส่วนในการสร้างชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยในชีวิตพรหมจรรย์มาถึงทุกวันนี้

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เวลา 18.00น.

วัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา




 




นำเสนอข่าวโดย : ทีมข่าว สยามทาวน์ยูเอส,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
12-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 50 สุดทางสายบาลี (0/2829) 
06-07-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 49 ฝึกฝนตนที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ (0/656) 
28-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 48 สอบได้แต่แม่เสีย (0/622) 
20-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 47 สอบเปรียญธรรม 7 ประโยคได้ (0/689) 
07-06-2022 บันทึกไว้สมัยเรียนบาลี : ตอนที่ 46 กราบหลวงพ่อปัญญานันทะ (0/676) 

แสดงความคิดเห็น

Name :

Detail :




ฉบับที่
599
siamtownus newspaper








Hots Clip VDO ดูทั้งหมด

ขออภัยสัญญาณ VDO มีปัญหากำลังดำเนินการแก้ไข